25-325 พญานาคมุจลินท์



พระไตรปิฎก


๒. มุจจลินทวรรค หมวดว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
๑. มุจจลินทสูตร ว่าด้วยพญานาคมุจลินท์

{๕๑} [๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์ A
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
สมัยนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำ
ตลอด ๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตน ไปโอบรอบ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือ
พระเศียรด้วยหวังว่า “ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น พญานาคมุจลินท์
รู้ว่าฝนหาย ปลอดเมฆแล้ว จึงคลายขนดออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือถวายอภิวาทอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน B
วิเวก C เป็นความสุขของผู้สันโดษ D
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความเป็นผู้ปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้ E เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะได้ F เป็นสุขอย่างยิ่ง G
มุจจลินทสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A มุจลินท์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิจุละ คือ ต้นจิกนา(นีปะ) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า
“The Tree Barringtonai Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้เป็นเจ้าแห่งไม้ในป่า
(ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)
B พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งวิเวกสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
C วิเวก ในที่นี้หมายถึงนิพพานที่สงัดจากอุปธิกิเลส (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)
D ผู้สันโดษ ในที่นี้หมายถึงผู้สันโดษในมัคคญาณ ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ
สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
E ความล่วงกามทั้งหลายได้ หมายถึงอนาคามิมรรค (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
F ความกำจัดอัสมิมานะ หมายถึงอรหัตต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
G ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๕/๘-๙, อภิ.ก.๓๗/๓๓๘/๑๘๓

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!