25-324 พระพาหิยะเถระ



พระไตรปิฎก


๑๐. พาหิยสูตร
ว่าด้วยพระพาหิยเถระ

{๔๗} [๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษชื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ A อาศัยอยู่ ณ
ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งทะเล มีคนจำนวนมากพากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้น
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะอยู่ในที่ลับหลีกเร้นอยู่ B เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เราเป็น
คนหนึ่งในบรรดาคนในโลกที่เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค”
คราวนั้น เทวดาที่เป็นญาติสาโลหิต C ในปางก่อนของเขา มีปกติอนุเคราะห์
ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ ได้ทราบความคิดคำนึงของเขา จึงเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่
ได้พูดดังนี้ว่า “พาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคเลย
แม้ปฏิปทาที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคของท่านก็ไม่มี”
พาหิยะ ทารุจีริยะจึงถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
เทวดานั้นตอบว่า “พาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีเมืองชื่อว่าสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็น
พระอรหันต์ด้วย” ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะถูกเทวดานั้นทำให้สังเวชแล้ว
จึงหลีกไปจาก ท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเองไปยังเมืองสาวัตถีทันที
โดยพักแรมสิ้นราตรีเดียวในที่ทั้งปวง ได้เข้าไปยังพระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
{๔๘} สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยะ ทารุจีริยะ
ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ได้พูดดังนี้ว่า “ท่านขอรับ บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน กระผมต้องการจะเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังละแวกบ้าน”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระเชตวัน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ผู้น่าเลื่อมใส
ทรงเป็น ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุสมถะ
และสมถะที่สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว ทรงคุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์
ทรงเป็นพระนาคะ D ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้า
หมอบลงแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
{๔๙} เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ
ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็น
ไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ-
ผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร
เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาตตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความ
เป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม
ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น
เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้ E ก็
สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษา
อย่างนี้แล
เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์
ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอ
ก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น F เมื่อใด เธอไม่
ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลก
ทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
ลำดับนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค จิตของพาหิยะ
ทารุจีริยะจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยะ ทารุจีริยะด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้วก็
เสด็จจากไป
{๕๐} เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดพาหิยะ ทารุจีริยะ
จนล้มลงเสียชีวิต
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตหลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับ
ภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะ ทารุจีริยะเสียชีวิตแล้ว จึงรับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ
ทารุจีริยะขึ้นวางบนเตียงแล้วนำไปเผา และจงทำสถูปไว้ เพื่อนพรหมจารีของเธอ
ทั้งหลายเสียชีวิตแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ช่วยกันยกร่างพาหิยะ ทารุจีริยะขึ้นวาง
บนเตียงแล้วนำไปเผา ทำสถูปไว้แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาร่างพาหิยะ ทารุจีริยะและ
ทำสถูปไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า เขามีคติเป็นอย่างไร มีภพเบื้องหน้าเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะเป็นผู้ดำเนินชีวิต
ด้วยปัญญา ดำเนินตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำให้เราลำบาก เพราะเหตุ
แห่งการแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน G
ในนิพพาน ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม
ไม่มีดวงดาวส่องแสง
ไม่มีดวงอาทิตย์ส่องแสง
ไม่มีดวงจันทร์ส่องแสง และไม่มีความมืด
เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะมีโมนธรรม H รู้แจ้งด้วยตนเอง
เมื่อนั้น เขาย่อมหลุดพ้นจากรูปภพ I อรูปภพ J และจากสุขและทุกข์ K
พาหิยสูตรที่ ๑๐ จบ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุทานแม้นี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้)
โพธิวรรคที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ที่ชื่อว่า พาหิยะ เพราะเกิดในแคว้นพาหิยะ ที่ชื่อว่า ทารุจีริยะ เพราะเป็นผู้นุ่งผ้า
เปลือกไม้ พาหิยะทารุจีริยะนี้เคยตั้งความปรารถนาว่าขอให้ตรัสรู้เร็วพลัน
ในศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.อุ.อ.๑๐/๘๑-๘๒)
B หลีกเร้นอยู่ หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรืออยู่ด้วยผลสมาบัติ
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า
(วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๐,องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗)
แต่ในที่นี้เป็นเพียงกิริยาเลียนแบบด้วยประสงค์จะให้เขายกย่องว่าเป็นพระอรหันต์
(ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๔)
C ญาติ หมายถึงบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดา
และเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน
ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาวพี่ชายน้องชาย เป็นต้น
(องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗)
D ที่ทรงพระนามว่า “นาคะ” เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
(๑) เพราะไม่ถึงอคติ ๔ มีฉันทาคติ เป็นต้น
(๒) เพราะไม่ทรงกลับไปหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว
(๓) เพราะไม่ทำความชั่วอะไร ๆ
(๔) เพราะไม่ไปเกิดในภพใหม่ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๙๑)
E อารมณ์ที่ได้รับรู้ แปลจากคำว่า มุตะ หมายถึงอารมณ์ ๓ คือ
คันธารมณ์(กลิ่น) รสารมณ์(รส)โผฏฐัพพารมณ์(การสัมผัส) (อภิ.สงฺ.อ. ๙๖๖/๓๙๖)
F คำว่า “เมื่อใดเธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น”
นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภูมิแห่งพระขีณาสพ มีความหมายดังนี้
คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งแล้ว
ก็จักไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จักไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหาว่า “นั่นของเรา” ไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจมานะว่า ‘เราเป็นนั่น’
และไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิว่า “นั่นเป็นอัตตาของเรา”
อีกนัยหนึ่ง คำว่า “เธอก็จะไม่มี” เป็นคำแสดงมรรค คำว่า “เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น”
เป็นคำแสดงผล คำว่า “เธอก็จะไม่มีในโลกนี้ เป็นต้น”
เป็นคำแสดงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๗-๘๘)
G พุทธอุทานนี้ พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงทราบว่า
พระพาหิยะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ และทรงทราบว่าคติของ
พระขีณาสพอันปุถุชนรู้ได้ยาก จึงทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งการปรินิพพาน
(ขุ.อุ.อ.๑๐/๑๐๒)
H โมนธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๒)
I รูปภพ หมายถึงปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) และเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๑)
(ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
J อรูปภพ หมายถึงจตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๔) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
K ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๑๘-๒๒๐/๒๖๗

บาลี


รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!