25-315 เหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ 1



พระไตรปิฎก


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. โพธิวรรค ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ A
๑. ปฐมโพธิสูตร A ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๑

{๓๘} [๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว B เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท(ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้น) โดยอนุโลมอย่างละเอียด ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน C
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย D ปรากฏแก่พราหมณ์ E
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ F
ปฐมโพธิสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑-๔/๑-๗
B นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน
(วิ.อ. ๓/๑/๓)
C พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการเกิดขึ้นแห่งญาณที่ประกอบด้วยโสมนัส
แสดงอานุภาพแห่งการรู้เหตุและธรรม ที่เกิดขึ้นจากเหตุด้วยอำนาจพิจารณา
ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖, ขุ.อุ.อ. ๓/๔๕-๕๒)
D ธรรมทั้งหลาย หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ
หรือปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลม (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
E พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปได้แล้ว (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
F รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึงรู้กองทุกข์ และรู้เหตุแห่งทุกข์ (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!