25-005 มงคล



พระไตรปิฎก


๕. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล

{๕} [๑] ข้าพเจ้า ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป A เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร B ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
{๖} [๒] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[๓] (๑) การไม่คบคนพาล
(๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๔] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน
(๖) การตั้งตนไว้ชอบ นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๕] (๗) ความเป็นพหูสูต
(๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี
(๑๐) วาจาสุภาษิต นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๖] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา
(๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา
(๑๔) การงานที่ไม่อากูล C นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๗] (๑๕) การให้ทาน
(๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ
(๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๘] (๑๙) การงดเว้นจากบาป
(๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๙] (๒๒) ความเคารพ
(๒๓) ความถ่อมตน
(๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู
(๒๖) การฟังธรรมตามกาล นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๐] (๒๗) ความอดทน D
(๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ
(๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๑] (๓๑) การเผาผลาญบาป
(๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์ E
(๓๓) การเห็นอริยสัจ
(๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๒] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก
(๓๗) จิตปราศจากธุลี
(๓๘) จิตเกษม นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๓] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ
เชิงอรรถ
A ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม(ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมง
ตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึง ๒๒ นาฬิกาแห่งราตรีที่ผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิยาม(ยามกลาง) คือกำลังอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกา
ถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘, ขุ.ขุ.อ. ๕/๙๙)
B ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ
(๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป (๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป
(๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๓๑๘)
C อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๑)
D ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น)
ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้น
ต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ
ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๙)
E พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ
(๑)เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๘/๓, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๙๒/๓๒๓)
(๒)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๕๗/๒๑๗)
(๓)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๘/๑๑๓)
(๔)มรรค(ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๖/๙) (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๓๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!