21-034 ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ



พระไตรปิฎก


๔. อัคคัปปสาทสูตร
ว่าด้วยความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

{๓๔}[๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้
ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า หรือมีเท้ามากก็ตาม มี
รูปหรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่
ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าเรากล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใส
ในพระพุทธเจ้าชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่
บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
๒. ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ เรา
กล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘
ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ในสิ่งที่เลิศ
๓. ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณ
เท่าใด วิราคะ (ความคลายกำหนัด) คือ ความสร่างความเมา
ความดับความกระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความ
สิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน เรา
กล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในวิราคธรรม ชื่อว่า
เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่ง
ที่เลิศ
๔. หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด พระสงฆ์สาวกของตถาคต
ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของ
พระผู้มีพระภาคนี้เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของ
ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอด
เยี่ยมของโลก เรากล่าวว่าเลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น บุคคลผู้
เลื่อมใสในสงฆ์ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมี
แก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้แล
บุญที่เลิศ คือ อายุ วรรณะ
ยศ เกียรติ สุข และพละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ผู้รู้ธรรมที่เลิศโดยความเป็นธรรมที่เลิศ
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม
ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ
อันเป็นที่คลายความกำหนัด
เป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้
ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ
ซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ให้ทานในท่านผู้เลิศ
นักปราชญ์ผู้ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศ
ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ A บันเทิงอยู่
อัคคัปปสาทสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ความเป็นผู้เลิศ หมายถึงเกิดในหมู่สัตว์ใด ๆ ก็ถึงความเป็นผู้เลิศ ความเป็นผู้ประเสริฐในหมู่สัตว์นั้น ๆ หรือได้บรรลุมรรคผลอันเป็นโลกุตตระ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๔/๓๖๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.