20-044 เหตุให้อธิกรณ์ยืดเยื้อและไม่ยืดเยื้อ
พระไตรปิฎก
เหตุให้อธิกรณ์ยืดเยื้อและไม่ยืดเยื้อ
{๒๖๑}[๑๕] ในอธิกรณ์ใด A ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ยังมิได้พิจารณา
ตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความ
รุนแรง B เพื่อความร้ายแรง C และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก” ส่วนในอธิกรณ์ใด
ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้
ดังนี้ว่า “จักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง เพื่อความร้ายแรง และ
ภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก”
ภิกษุผู้ต้องอาบัติพิจารณาตนเองให้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุผู้ต้องอาบัติในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “เราแลต้องอาบัติที่
เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงได้เห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็น
อกุศลทางกายบางอย่าง ถ้าเราไม่พึงต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ภิกษุ
นั้นก็ไม่พึงเห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ก็เพราะเราต้องอาบัติ
ที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงได้เห็นว่าเราต้องอาบัติที่เป็นอกุศล
ทางกายบางอย่าง ครั้นเห็นแล้วจึงไม่พอใจ ภิกษุนั้นเมื่อไม่พอใจ จึงว่ากล่าวเราผู้มี
วาจาไม่น่าพอใจ เราผู้มีวาจาไม่น่าพอใจถูกภิกษุนั้นว่ากล่าว จึงไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจ
จึงบอกแก่ผู้อื่นว่า “ด้วยเหตุนี้ โทษในอธิกรณ์นั้นจึงครอบงำแต่เฉพาะเราเท่านั้น
เหมือนในเรื่องสินค้า โทษย่อมครอบงำเฉพาะบุคคลผู้จำต้องเสียภาษี”
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ต้องอาบัติพิจารณาตนเองให้ดีเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุผู้เป็นโจทก์ในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ภิกษุนี้แลต้องอาบัติที่
เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง เพราะเหตุนั้น เราจึงได้เห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็น
อกุศลทางกายบางอย่าง ถ้าภิกษุนี้ไม่พึงต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง
เราก็ไม่พึงเห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ก็เพราะภิกษุนี้ต้อง
อาบัติที่เป็นอกุศลทางกายบางอย่าง ฉะนั้น เราจึงได้เห็นว่าภิกษุนี้ต้องอาบัติที่เป็น
อกุศลทางกายบางอย่าง ครั้นเห็นแล้วจึงไม่พอใจ เราเมื่อไม่พอใจ ได้ว่ากล่าวภิกษุนี้
ผู้มีวาจาไม่น่าพอใจ ภิกษุนี้ผู้มีวาจาไม่น่าพอใจนี้ถูกเราว่ากล่าว จึงไม่พอใจ เมื่อไม่
พอใจจึงบอกแก่ผู้อื่นว่า “ด้วยเหตุนี้ โทษในอธิกรณ์นั้นจึงครอบงำแต่เฉพาะเรา
เท่านั้นเหมือนในเรื่องสินค้า โทษย่อมครอบงำเฉพาะบุคคลผู้จำต้องเสียภาษี”
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดีเป็นอย่างนี้แล
ในอธิกรณ์ใด ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์ยังไม่พิจารณาตนเองให้ดี
ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักเป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง เพื่อ
ความร้ายแรง และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ไม่ผาสุก”
ส่วนในอธิกรณ์ใด ภิกษุผู้ต้องอาบัติและภิกษุผู้เป็นโจทก์พิจารณาตนเองให้ดี
ในอธิกรณ์นั้นพึงหวังได้ดังนี้ว่า “จักไม่เป็นไปเพื่อความยืดเยื้อ เพื่อความรุนแรง
เพื่อความร้ายแรง และภิกษุทั้งหลายจักอยู่ผาสุก” (๕)
เชิงอรรถ
A อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยว
กับพระธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การ
ต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวเองให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์
จะต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒)
B เพื่อความรุนแรง ในที่นี้หมายถึงเป็นไปเพื่อความมีวาจาหยาบคาย เช่น ด่ากันด้วยคำหยาบว่า ท่าน
เป็นทาส เป็นคนชั่ว เป็นจัณฑาลและเป็นช่างสาน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๓)
C เพื่อความร้ายแรง ในที่นี้หมายถึงเป็นไปเพื่อการทำร้ายกันด้วยก้อนหิน ก้อนดิน และท่อนไม้เป็นต้น (องฺ.
ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๓)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต