16-002 การจำแนกปฏิจจสมุปบาท



พระไตรปิฎก


๒. วิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกปฏิจจสมุปบาท

[๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ … เขตกรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกปฏิจจสมุปบาทแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
{๕} ‘ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
{๖} ชราและมรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์
นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความ
ทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์
ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า มรณะ
ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ
{๗} ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิดเฉพาะ ความ
บังเกิดขึ้นเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชาติ
{๘} ภพ มีเท่าไร
ภพมี ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)
นี้เรียกว่า ภพ
{๙} อุปาทาน มีเท่าไร
อุปาทานมี ๔ ประการนี้ คือ
๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลพรต)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)
นี้เรียกว่า อุปาทาน
{๑๐} ตัณหา มีเท่าไร
ตัณหามี ๖ ประการนี้ คือ
๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากได้รูป)
๒. สัททตัณหา (ความทะยานอยากได้เสียง)
๓. คันธตัณหา (ความทะยานอยากได้กลิ่น)
๔. รสตัณหา (ความทะยานอยากได้รส)
๕. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากได้โผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากได้ธรรมารมณ์)
นี้เรียกว่า ตัณหา
{๑๑} เวทนา มีเท่าไร
เวทนามี ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาเกิดจากสัมผัสทางใจ)
นี้เรียกว่า เวทนา
{๑๒} ผัสสะ มีเท่าไร
ผัสสะมี ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา)
๒. โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู)
๓. ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น)
๕. กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย)
๖. มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ)
นี้เรียกว่า ผัสสะ
{๑๓} สฬายตนะ มีเท่าไร
สฬายตนะมี ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)
นี้เรียกว่า สฬายตนะ
{๑๔} นามรูป เป็นอย่างไร
คือ เวทนา(ความเสวยอารมณ์) สัญญา(ความจำได้หมายรู้) เจตนา(ความจงใจ)
ผัสสะ(ความกระทบ หรือสัมผัส) มนสิการ(ความกระทำไว้ในใจ) นี้เรียกว่า นาม
มหาภูต A ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูต ๔ นี้เรียกว่า รูป
นามและรูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า นามรูป
{๑๕} วิญญาณ มีเท่าไร
วิญญาณมี ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)
นี้เรียกว่า วิญญาณ
{๑๖} สังขารทั้งหลาย มีเท่าไร
สังขารมี ๓ ประการนี้ คือ
๑. กายสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งกาย)
๒. วจีสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งวาจา)
๓. จิตตสังขาร (สภาวะที่ปรุงแต่งใจ)
นี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย
{๑๗} อวิชชา เป็นอย่างไร
คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย(เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความไม่รู้ใน
ทุกขนิโรธ(ความดับแห่งทุกข์) ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติที่ให้ถึง
ความดับแห่งทุกข์) นี้เรียกว่า อวิชชา
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
{๑๘} อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
วิภังคสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A มหาภูตหรือมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ คือธาตุดินมีลักษณะแข้นแข็ง (๒) อาโปธาตุ
คือธาตุน้ำมีลักษณะเหลว (๓) เตโชธาตุ คือธาตุไฟมีลักษณะร้อน (๔) วาโยธาตุ คือธาตุลมมีลักษณะ
พัดไปมา (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๖/๒๑๖-๒๑๙, สํ.นิ.อ. ๒/๖๑/๑๑๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.