15-034 ความไม่มี



พระไตรปิฎก


๔. นสันติสูตร
ว่าด้วยความไม่มี
[๑๐๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกา
จำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
[๑๐๓] เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ในหมู่มนุษย์ กามที่น่าใคร่ซึ่งคนเกาะเกี่ยวมัวเมาอยู่
จนไม่บรรลุนิพพานอันเป็นเหตุไม่หวนกลับมาสู่แดนมัจจุอีก
กามนั้นจะชื่อว่าเที่ยงแท้หามีไม่
ความลำบากเกิดจากฉันทะ ทุกข์เกิดจากฉันทะ
เพราะกำจัดฉันทะได้ จึงกำจัดความลำบากได้
เพราะกำจัดความลำบากได้ จึงกำจัดทุกข์ได้
อารมณ์อันงามทั้งหลายในโลก ยังไม่จัดเป็นกาม
ความกำหนัดที่เกิดจากความดำริเป็นกามของบุรุษ
อารมณ์อันงามทั้งหลายมีอยู่ในโลกอย่างนั้นเอง
ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงกำจัดฉันทะในอารมณ์เหล่านั้น
บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์ A ได้หมดทุกอย่าง
ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้น ผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล B
ภิกษุละบัญญัติแล้ว ไม่เข้าถึงวิมาน
ตัดตัณหาในนามรูปนี้ได้แล้ว
เทวดาและมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี
ในสวรรค์ก็ดี ในสถานที่อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี
พากันเที่ยวค้นหาก็ไม่พบภิกษุนั้น
ผู้ตัดเครื่องผูกขาดแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีตัณหา
[๑๐๔] (ท่านพระโมฆราชทูลถามว่า)
หากเทวดาและมนุษย์เหล่าใดในโลกนี้หรือในโลกอื่น
ไม่ได้เห็นภิกษุนั้นผู้อุดมกว่านรชน
ผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อนรชน ผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
นอบน้อมภิกษุนั้นอยู่
เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญหรือ
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุโมฆราช)
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญ
เทวดาและมนุษย์เหล่าใดนอบน้อมภิกษุผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาได้
เป็นผู้ข้ามพ้นธรรมเป็นเครื่องข้องได้
นสันติสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์มี ๑๐ อย่าง คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็น
ตัวของตน (๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ
ความติดใจในกาม (๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ หรือ พยาบาท ความคิดปองร้าย (๖) รูปราคะ
ความติดใจในรูปธรรม (๗) อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม (๘) มานะ ความถือตัว (๙) อุทธัจจะ
ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้จริง (สํ.ส.อ. ๑/๓๔/๖๒, สํ.สฬา.อ. ๓/๕๓-๖๒/๑๔, องฺ.ทสก. (แปล)
๒๔/๑๓/๒๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๘๐/๕๙๒)
B ดู ขุ.ธ. ๒๕/๒๒๑/๕๖

บาลี



นสนฺติสุตฺต
[๑๐๒] เอก สมย ภควา สาวตฺถิย วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส
อาราเม ฯ อถ โข สมฺพหุลา สตุลฺลปกายิกา เทวตาโย
อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา อภิกฺกนฺตวณฺณา เกวลกปฺป เชตวนๆ
โอภาเสตฺวา เยน ภควา เตนุปสงฺกมึสุ อุปสงฺกมิตฺวา ภควนฺต
อภิวาเทตฺวา เอกมนฺต อฏฺสุ ฯ
[๑๐๓] เอกมนฺต ิตา โข เอกา เทวตา ภควโต สนฺติเก
อิม คาถ อภาสิ
น สนฺติ กามา มนุเชสุ นิจฺจา
สนฺตีธ กมนียานิ เยสุ พทฺโธ
เยสุ ปมตฺโต ๑ อปุนาคมน
อนาคนฺตฺวา ปุริโส มจฺจุเธยฺยาติ ฯ
ฉนฺทช อฆ ฉนฺทช ทุกฺข
ฉนฺทวินยา อฆวินโย
อฆวินยา ทุกฺขวินโยติ ฯ
น เต กามา ยานิ จิตฺรานิ ๒ โลเก
สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม
ติฏฺนฺติ จิตฺรานิ ตเถว โลเก
อเถตฺถ ธีรา วินยนฺติ ฉนฺท ฯ
โกธ ชเห วิปฺปชเหยฺย มาน
สฺโชน สพฺพมติกฺกเมยฺย
ต นามรูปสฺมิมสชฺชมาน
อกิฺจน นานุปตนฺติ ทุกฺขา ฯ
ปหาสิ สงฺข น วิมานมาคา ๓
อจฺเฉชฺชิ ตณฺห อิธ นามรูเป
ต ฉินฺนคนฺถ อนิฆ นิราส
ปริเยสมานา นาชฺฌคมม ๔
เทวา มนุสฺสา อิธ วา หุร วา
สคฺเคสุ วา สพฺพนิเวสเนสูติ ฯ
[๑๐๔] ตฺเจ หิ นาทฺทกฺขุ ตถา วิมุตฺต [อิจฺจายสฺมา โมฆราชา]
เทวา มนุสฺสา อิธ วา หุร วา
นรุตฺตม อตฺถจร นราน
เย ต นมสฺสนฺติ ปสสิยา เตติ ฯ
[๑๐๕] ปสสิยา เตปิ ภวนฺติ ภิกฺขุ [โมฆราชาติ ภควา]
เย ต นมสฺสนฺติ ตถา วิมุตฺต
อฺาย ธมฺม วิจิกิจฺฉ ปหาย
สงฺคาติตา ๕ เตปิ ภวนฺติ ภิกฺขูติ ฯ

******************

#๑ สี. เยสุ จ พทฺโธ สุปมตฺโต ฯ ๒ สี. กามานิ จิตฺรานิ ฯ
#๓ โป. ม. ยุ. น วิมานมชฺฌคา ฯ ๔ ยุ. น จ อชฺฌคมม ฯ
#๑ สงฺคาติคาติ วา สงฺขาติคาติ วา ปาโ ฯ

อรรถกถา


อรรถกถานสันติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในนสันติสูตรที่ ๔ ต่อไป :-
บทว่า กมนียานิ แปลว่า อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ ได้แก่
อารมณ์ที่น่าปรารถนามีรูปเป็นต้น. บทว่า อปุนาคมนํ อนาคนฺตฺวา ปุริโส
มจฺจุเธยฺยํ ได้แก่ ไม่มาถึงพระนิพพาน กล่าวคือที่เป็นที่ไม่กลับมาอีก แต่
บ่วงแห่งมัจจุ กล่าวคือ วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ จริงอยู่ บุคคลผู้บรรลุพระ-
นิพพานแล้ว ย่อมไม่กลับมาอีก ฉะนั้น ท่านจึงเรียกนิพพานนั้นว่า อปุนาคมนะ
แปลว่า ที่เป็นที่ไม่กลับมาอีก. อธิบายว่า บุคคลผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประมาท
แล้วในกามทั้งหลาย ชื่อว่า ย่อมไม่มาแล้ว คือไม่อาจเพื่อบรรลุพระนิพพาน
นั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ฉนฺทชํ แปลว่า เกิดแต่
ฉันทะ อธิบายว่า เกิดเพราะตัณหาฉันทะ. บทว่า อฆํ แปลว่า ทุกข์ คือ
เบญจขันธ์ บทที่ ๒ (ทุกข์) เป็นไวพจน์ของเบญจขันธ์นั้นนั่นแหละ. บทว่า
ฉนฺทวินยา อฆวินโย แปลว่า เพราะกำจัดฉันทะเสียจึงกำจัดเบญจขันธ์ได้
อธิบายว่า เพราะกำจัดตัณหาได้ จึงกำจัดเบญจขันธ์ได้. บทว่า อฆวินยา
ทุกฺขวินโย แปลว่า เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ จึงกำจัดทุกข์ได้ อธิบายว่า
เพราะกำจัดเบญจขันธ์ได้ วัฏทุกข์ ย่อมเป็นอันตนกำจัดได้แล้วเหมือนกัน.
บทว่า จิตฺรานิ แปลว่า อารมณ์อันงามทั้งหลาย. บทว่า สงฺกปฺปราโค แปลว่า
ความกำหนัดที่พร้อมด้วยความดำริ ในที่นี้ ท่านปฏิเสธวัตถุทั้งหลาย (วัตถุ
กาม) แล้วกล่าวว่า ความกำหนัดพร้อมด้วยความดำริอย่างนี้ว่า เป็นกิเลสกาม.
ความข้อนี้ บัณฑิตพึงให้แจ่มแจ้งด้วยปสุรสูตร. จริงอยู่ เมื่อพระเถระ (พระ-
สารีบุตร) กล่าวว่าความดำริและความกำหนัดเป็นกามของบุรุษ ปสุรปริพาชก
ก็กล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีอารมณ์งาม ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่กาม ท่านกล่าวว่า
ความดำริและความกำหนัดในโลก ว่าเป็นกาม เป็นความดำริ ถ้าเช่นนั้น แม้
ภิกษุของท่านก็พึงบริโภคกามในอกุศลวิตก ดังนี้. ลำดับนั้น พระเถระได้
กล่าวกะปสุรปริพาชกนั้นว่า หากว่า อารมณ์เหล่าใดงาม อารมณ์เหล่านั้นไม่
ใช่กามไซร้ ท่านก็ไม่ต้องกล่าวถึงความดำริและความกำหนัดว่า เป็นกามใน
โลก เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งรูปทั้งหลายอันเป็นอารมณ์ทางใจ แม้พระศาสดาก็
ตรัสว่า กามโภคีพึงมีแก่เขา ดังนี้ เมื่อบุคคลฟังเสียงทั้งหลาย สูดอยู่ซึ่งกลิ่น
หอมทั้งหลาย ลิ้มอยู่ซึ่งรสทั้งหลาย ถูกต้องอยู่ซึ่งผัสสะทั้งหลายอันเป็นอารมณ์
ทางใจ แม้พระศาสดาก็ตรัสว่า กามโภคี พึงมีแก่เขา ดังนี้.
บทว่า อเถตฺถ ธีรา แปลว่า บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมกำจัด
ฉันทะในอารมณ์ทั้งหลายนั้นโดยแท้ อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกำจัด
ฉันทราคะในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นโดยแท้. บทว่า สํโยชนํ สพฺพํ ได้
แก่ สังโยชน์แม้ทั้ง ๑๐ อย่าง. บทว่า อกิญฺจนํ ได้แก่ เว้นจากกิเลสเครื่อง
กังวลทั้งหลายมีราคะเป็นต้น. บทว่า นานุปตนฺติ ทุกฺขา แปลว่า ทุกข์ทั้ง
หลายย่อมไม่ตกถึงบุคคลนั้น คือว่าวัฏทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกไปเบื้องบน
บุคคลผู้นั้น. พระเถระชื่อว่า โมฆราชผู้ฉลาดในอนุสนธิ ฟังคาถาว่า ขีณาสว
ภิกษุละบัญญัติเสียแล้ว ดังนี้ มีสติกำหนดคาถาแม้เหล่านั้นแล้วจึงคิดว่า เนื้อ
ความแห่งคาถานี้ ไม่ไปตามอนุสนธิ ดังนี้ เมื่อจะสืบต่อแห่งอนุสนธิตามที่เป็น
ไปอย่างไร จึงกล่าวคำ อย่างนี้ว่า
ก็หากว่า พวกเทวดา พวกมนุษย์
ในโลกนี้ หรือในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็น
พระขีณาสพนั้นผู้อุดมกว่านรชน ผู้ประ-
พฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้ว
อย่างนั้น เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อม
ไหว้พระขีณาสพนั้น เทวดาและมนุษย์
เหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วา หุรํ วา แปลว่า ในโลกนี้
หรือในโลกอื่น. บทว่า นรุตฺตมํ อตฺถจรํ นรานํ แปลว่า ผู้อุดมกว่านรชน
ผู้พระพฤติประโยชน์ เพื่อนรชนทั้งหลายนั้น แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระ-
เถระก็มิได้หมายเอาพระชีณาสพอื่น หมายเอาพระทศพลเท่านั้น. บทว่า เย
ตํ นมสฺสนฺติ ปสํสิยา เต แปลว่า พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้
พระขีณาสพนั้นผู้พ้นแล้วอย่างนั้น อธิบายว่า ย่อมไหว้พระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้น ด้วยกายหรือด้วยวาจาหรือว่า ด้วยการปฏิบัติตามโดยแท้ พวกเทวดาและ
มนุษย์เหล่านั้น พึงเป็นผู้อันบัณฑิตควรสรรเสริญหรือไม่ บทว่า ภิกษุ
เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระโมฆราชเถระ. บทว่า อญฺาย ธมฺมํ
แปลว่า รู้ธรรมแล้ว คือได้แก่ รู้สัจธรรมทั้ง ๔. บทว่า สงฺคาตีตา เตปิ
ภวนฺติ แปลว่า แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น. . . ย่อมเป็นผู้ล่วง
ธรรมเครื่องข้อง อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้านั้นด้วยกายหรือด้วยวาจา หรือว่า ด้วยการปฏิบัติตาม เทวดาและ
มนุษย์เหล่านั้นรู้สัจจธรรม ๔ และละวิจิกิจฉาแล้ว ย่อมเป็นผู้ล่วงพ้นธรรมเป็น
เครื่องข้องบ้าง ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิต พึงสรรเสริญบ้าง ดังนี้แล.
จบอรรถกถานสันติสูตรที่ ๔

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!