10-054 มหาปเทส 4 ประการ
พระไตรปิฎก
มหาปเทส ๔ ประการ (ข้ออ้างที่สำคัญ)
{๑๑๒}[๑๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในภัณฑุคาม
แล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
หัตถีคามกัน” … “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังอัมพคามกัน” … “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังชัมพุคามกัน” … “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังโภค-
นครกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงมหาปเทส ๔ ประการนี้
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
{๑๑๓}[๑๘๘] ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้สดับ
รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็น
วินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึง
คัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้น
ให้ดี A แล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะ
เหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลง
สันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
แน่นอน และภิกษุนี้รับมาผิด‘เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้า
ในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนี้รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลาย
พึงจำมหาปเทสประการที่ ๑ นี้ไว้
{๑๑๔} ๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีสงฆ์
อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับมา
เฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็
ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้นรับมาผิด’
เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลง
ในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็น
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้น
รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๒ นี้ไว้
{๑๑๕} ๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ B ทรงธรรม C
ทรงวินัย D ทรงมาติกา E ข้าพเจ้าได้สดับมาเฉพาะหน้าพระเถระ
เหล่านั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอ
ทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้
เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระเหล่านั้นรับมา
ผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น
สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
“นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และ
พระเถระเหล่านั้นรับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส
ประการที่ ๓ นี้ไว้
{๑๑๖} ๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นเถระอยู่รูปหนึ่งเป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่
พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและ
พยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับมาผิด’ เธอ
ทั้งหลายพึงทิ้งเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตร
ก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับ
มาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๔ นี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส ๔ ประการนี้แล
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิ
มีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดย
ชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
เชิงอรรถ
A พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี หมายถึงการเรียนที่สามารถรู้ว่า ตรงนี้แสดงบาลีไว้ ตรงนี้แสดง อรรถาธิบายไว้ ตรงนี้แสดงอนุสนธิไว้ ตรงนี้แสดงเบื้องต้นและเบื้องปลายไว้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๐/๔๐๒)
B คัมภีร์ หมายถึงนิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
C ธรรม หมายถึงพระสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๒๐/๑๑๓)
D วินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
E มาติกา หมายถึงมาติกา ๒ คือ ภิกขุวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต