16-188 จักษุ



พระไตรปิฎก


๑. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ

{๕๙๙} [๑๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดง
ธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”
{๖๐๐} “ราหุล เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุ(ตา) เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“โสตะ(หู)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” …
“ฆานะ(จมูก)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” …
“ชิวหา(ลิ้น)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” …
“กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” …
“มโน(ใจ)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
{๖๐๑} “ราหุล อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น เพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
[พึงย่อพระสูตรทั้ง ๑๐ เช่นนี้]
จักขุสูตรที่ ๑ จบ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.