15-005 บุคคลตัดอะไรจึงข้ามโอฆะได้


พระไตรปิฎก


๕. กติฉินทสูตร   ว่าด้วยบุคคลตัดอะไรจึงข้ามโอฆะได้
[๑๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี  เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า บุคคลควรตัดธรรมเท่าไร  ควรละธรรมเท่าไร  ควรบำเพ็ญธรรมเท่าไรให้ยิ่งขึ้นไป  ภิกษุก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเท่าไร  พระองค์จึงตรัสว่า ข้ามโอฆะได้
[๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  บุคคลควรตัดธรรม ๕ ประการ A  ควรละธรรม ๕ ประการ B  ควรเจริญธรรม ๕ ประการ C ให้ยิ่งขึ้นไป  ภิกษุก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ ประการ D ได้แล้ว  เราจึงกล่าวว่า ข้ามโอฆะได้ E  กติฉินทสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ธรรม ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ ได้แก่ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่น  ศีลพรต (๔) กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ (๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ หรือพยาบาท ความคิดร้าย (สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๘๐/๑๐๖, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๓/๒๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๔๐/๕๙๒) B ธรรม ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงอุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องสูง) ๕ ประการ ได้แก่ (๑) รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรม (๒) อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม (๓) มานะ ความถือตัว (๔) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๕) อวิชชา ความไม่รู้จริง (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๓) C ธรรม ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน) ๕ ประการ คือ (๑) สัทธินทรีย์  ธรรมที่เป็นใหญ่คือศรัทธา (๒) วิริยินทรีย์ ธรรมที่เป็นใหญ่คือวิริยะ (๓) สตินทรีย์ ธรรมที่เป็นใหญ่  คือสติ (๔) สมาธินทรีย์ ธรรมที่เป็นใหญ่คือสมาธิ (๕) ปัญญินทรีย์ ธรรมที่เป็นใหญ่คือปัญญา (สํ.ส.อ.๑/๕/๒๔)  D ธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ ประการ คือ (๑) ราคะ ความกำหนัด (๒) โทสะ ความโกรธ (๓) โมหะ  ความหลง (๔) มานะ ความถือตัว (๕) ทิฏฐิ ความเห็น (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔) E ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘

บาลี


กติฉินฺทิสุตฺต
[๑๑] เอกมนฺต ิตา โข สา เทวตา ภควนฺต คาถาย อชฺฌภาสิ
กติ ฉินฺเท กติ ชเห กติ วุตฺตริ ๑ ภาวเย
กติ สงฺคาติโต ๒ ภิกฺขุ โอฆติณฺโณติ วุจฺจตีติ ฯ
[๑๒] ปฺจ ฉินฺเท ปฺจ ชเห ปฺจ วุตฺตริ ๓ ภาวเย
ปฺจ สงฺคาติโต ๔ ภิกฺขุ โอฆติณฺโณติ วุจฺจตีติ ฯ
******************
#๑-๓ ม. กติ จุตฺตริ ฯ คาถ อภาสิ. ๒-๔ สี. สงฺคาติโก ฯ ม. ยุ. สงฺคาติโค ฯ
#อ. สงฺคาตีโต สงฺเค อตีโต อติกฺกนฺโต ฯ

อรรถกถา


อรรถกถากติฉินทิสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า กติ ฉินฺเท ได้แก่ บุคคลเมื่อตัดควรตัดเท่าไร. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้. ก็ในบทว่า ฉินฺเท ชเห นี้ว่าโดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน.  เทวดานี้เมื่อเว้นถ้อยคำที่ซ้ำ ๆ ก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่การประพันธ์คาถา จึงได้กล่าวแล้วอย่างนี้. บทว่า กติ สงฺคาติโต แปลว่า ภิกษุก้าวล่วงธรรม อันเป็นเครื่องข้องเท่าไร. พระบาลีว่า สงฺคาติโต บ้าง. มีเนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า ปญฺจ ฉินฺเท ได้แก่ เมื่อตัดควรตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง. บทว่า ปญฺจ ชเห ได้แก่ เมื่อละควรละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง การตัดและการละแม้ในที่นี้ เมื่อว่าโดยอรรถก็เป็นอย่างเดียวกัน แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ก็เพราะให้เหมาะสมกับถ้อยคำอันเทวดาอ้างมา.  อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นเครื่องฉุดคร่า ให้ตกไปในเบื้องต่ำ เหมือนกับก้อนหินที่เขาผูกเท้าไว้  จะพึงตัดสังโยชน์นั้นได้ด้วยพระอนาคามิมรรค ดังนี้ และตรัสว่า อุทธัมภาคิย สังโยชน์ ๕ ซึ่งฉุดคร่าไว้เบื้องบน เหมือนกับกิ่งไม้ที่บุคคลใช้มือจับไว้  จะพึงละสังโยชน์นั้นได้ด้วยพระอรหัตมรรค ดังนี้. บทว่า ปญฺจ จุตฺตริภาวเย ความว่า เมื่อเจริญคุณวิเศษให้ยิ่ง คือให้มากกว่า เพื่อต้องการตัด และเพื่อต้องการละสังโยชน์เหล่านั้น ควรเจริญอินทรีย์ทั้งหลายมีศรัทธาเป็นที่ ๕.
บทว่า ปญฺจสงฺคาติโต ความว่า ก้าวล่วงแล้วซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ เหล่านี้ คือ เครื่องข้องคือราคะ เครื่องข้องคือโทสะ เครื่องข้องคือโมหะ  เครื่องข้องคือมานะ เครื่องข้องคือทิฏฐิ. บทว่า โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ เขา กล่าวว่า ข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว แต่ในพระคาถานี้ กล่าวถึงอินทรีย์ ๕ ซึ่ง เป็นทั้งโลกิยะ และโลกุตตระ ดังนี้แล.   จบอรรถกถากติฉินทิสูตร ที่ ๕

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!