15-188 อักโกสภารทวาชพราหมณ์
- พระไตรปิฎก
- บาลี
- อรรถกถา
พระไตรปิฎก
๒. อักโกสสูตร
ว่าด้วยอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
[๖๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า “ได้ยินว่า
พราหมณ์ภารทวาชโคตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในสำนักของพระสมณ-
โคดมแล้ว” จึงโกรธ ไม่พอใจ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ด่าบริภาษ
พระผู้มีพระภาคด้วยวาจาหยาบคาย อันมิใช่วาจาของสัตบุรุษ
[๖๓๒] เมื่ออักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
มิตร อำมาตย์ A ญาติและสาโลหิต B ผู้เป็นแขกของท่าน มาเยือนท่านบ้างไหม”
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “พระโคดมผู้เจริญ มิตร อำมาตย์ ญาติ
และสาโลหิต ผู้เป็นแขกของข้า พระองค์ มาเยือนบ้างเป็นบางคราว”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
ท่านเคยจัดของเคี้ยวของบริโภคหรือของควรลิ้ม เพื่อต้อนรับมิตร อำมาตย์ ญาติ
และสาโลหิต ผู้เป็นแขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่”
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์จัด
ของเคี้ยวของบริโภคหรือของควรลิ้มเพื่อต้อนรับมิตร อำมาตย์ ญาติและสาโลหิต
ผู้เป็นแขกเหล่านั้นเป็นบางคราว”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ถ้ามิตร อำมาตย์ ญาติและสาโลหิต
ผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของควรลิ้มนั้นจะเป็นของใคร”
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “พระโคดมผู้เจริญ ถ้ามิตร อำมาตย์
ญาติและสาโลหิตผู้เป็นแขกเหล่านั้นไม่รับ ของเคี้ยวของบริโภคหรือของควรลิ้มนั้น
ก็เป็นของข้าพระองค์อย่างเดิม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้ก็เหมือนกัน ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่
ท่านโกรธต่อเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านมาทะเลาะกับเราผู้ไม่ทะเลาะอยู่ เราไม่รับคำด่า
เป็นต้นของท่านนั้น พราหมณ์ ดังนั้น คำด่าเป็นต้นนั้น จึงเป็นของท่านผู้เดียว
พราหมณ์ ผู้ใดด่าตอบต่อบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธอยู่ ทะเลาะ
ตอบต่อบุคคลผู้ทะเลาะอยู่ ผู้นั้นเรากล่าวว่า ย่อมบริโภคด้วยกัน ย่อมกระทำตอบโต้
ต่อกัน แต่เรานั้นไม่บริโภคด้วยกัน ไม่กระทำตอบโต้กับท่านเป็นอันขาด พราหมณ์
ดังนั้น คำด่าเป็นต้นนั้น จึงเป็นของท่านผู้เดียว”
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์กล่าวว่า “บริษัทพร้อมด้วยพระราชา ย่อมทราบ
พระโคดมผู้เจริญอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์’ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น
พระโคดมผู้เจริญยังโกรธอยู่หรือ”
[๖๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่โกรธ ฝึกตนแล้ว
มีความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ
สงบ คงที่ จักมีความโกรธแต่ที่ไหนเล่า
ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น
บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้
ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น
เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์ของคนทั้ง ๒ ฝ่าย C
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น
ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรม D ย่อมเข้าใจว่าเป็นคนโง่
[๖๓๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด”
อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้ว อนึ่ง ท่านพระอักโกสกภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไป
อยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้ง
ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
อนึ่ง ท่านพระอักโกสกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระ-
อรหันต์ทั้งหลาย
อักโกสสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A มิตร หมายถึงคนรู้จักกันเพราะการใช้ของในเรือนร่วมกัน เช่น ให้ของแก่กันและกันหรือรับของจากกัน
อำมาตย์ หมายถึงผู้ทำกิจร่วมกัน เช่น ปรึกษาหารือกัน ไปด้วยกัน นั่งด้วยกันเป็นต้น (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๐๑๖/
๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๗๖/๖๒๙)
B ญาติ หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกันโดยการแต่งงานกัน ได้แก่ มารดาบิดาของสามีและเครือญาติฝ่ายมารดา
บิดาของสามี หรือมารดาบิดาของภรรยาและเครือญาติฝ่ายมารดาบิดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้
ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗,สํ.ม.อ.
๓/๑๐๑๒/๓๖๗,สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) หรือญาติฝ่ายมารดา (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๗๖/๖๙)
C แปลตามนัยอรรถกถา (สํ.ส.อ. ๑/๑๘๘/๒๑๗)
D ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ บ้าง สัจจะ ๔ บ้าง (สํ.ส.อ. ๑/๑๘๘/๒๑๗)