25-532 พระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
พระไตรปิฎก
๑๔. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
{๓๓๒} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
{๓๓๓} [๓๗๙] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[๓๘๐] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ A
และความข้ามพ้นไปจากคติ
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๘๑] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[๓๘๒] พญาช้างเอราวัณ B ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[๓๘๓] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[๓๘๔] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น
[๓๘๕] พวกพราหมณ์ผู้เฒ่า
ที่มีปกติกล่าววาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ดี
และพราหมณ์เหล่าอื่นที่สำคัญอยู่ว่า
เราทั้งหลายผู้มีปกติทำวาทะก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระองค์
[๓๘๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ธรรมนี้ C ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างดีละเอียด
และก่อให้เกิดสุขอย่างแท้จริง
ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจฟังธรรมนั้น
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหา
ที่พวกข้าพระองค์ทูลถามแล้วด้วยเถิด
[๓๘๗] ภิกษุพร้อมทั้งอุบาสกนี้ทั้งหมด
ผู้นั่งประชุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะฟัง
จะตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงปราศจากมลทินตรัสรู้แล้ว
เหมือนทวยเทพต่างตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น
[๓๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเรา
เราจะให้เธอได้สดับธรรมคือข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส
และขอพวกเธอทั้งหมดจงประพฤติธรรมนั้น
ภิกษุผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นประโยชน์
ควรปฏิบัติตนอยู่ทุกอิริยาบถที่สมควรแก่บรรพชิต
[๓๘๙] ภิกษุไม่ควรออกเที่ยวไปในเวลาวิกาล
แต่ควรเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามเวลา
เพราะว่าภิกษุผู้ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
กิเลสเครื่องข้อง D จะครอบงำ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
[๓๙๐] ภิกษุควรกำจัดความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ทำให้เหล่าสัตว์หลงมัวเมา
เข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้า ตามกาล
[๓๙๑] อนึ่ง ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตมาฉันภายในเวลาแล้ว
ควรกลับไปนั่งในที่สงัดตามลำพัง
ควบคุมอัตภาพคือจิตได้อย่างมั่นคงแล้ว
กำหนดจิตพิจารณาอารมณ์ภายใน
ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์ภายนอก
[๓๙๒] ถ้าแม้ภิกษุนั้นจำเป็นจะต้องสนทนากับสาวกอื่น ๆ
หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรสนทนาธรรมที่ประณีต E นั้น
ไม่ควรกล่าวคำสอนส่อเสียดกระทบว่าร้ายผู้อื่น
[๓๙๓] มีคนพวกหนึ่งชอบกล่าววาทะโต้เถียงกัน
เราไม่สรรเสริญคนพวกนั้นผู้มีปัญญาน้อย
เพราะกิเลสเครื่องข้องที่เกิดจากการกล่าววาจาโตัเถียงกันนั้น
จะครอบงำคนพวกนั้น เพราะพวกเขา (เมื่อโต้เถียงกัน)
ย่อมทำจิตให้ไกลจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา
[๓๙๔] สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พิจารณาอาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดแล้วจึงใช้สอยปัจจัย
[๓๙๕] เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรเป็นผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
คือ อาหารบิณฑบาต ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดนี้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น
[๓๙๖] ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ
คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร
จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น
ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วน ๆ ได้
[๓๙๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว
ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ฆ่า
[๓๙๘] จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่
ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่าง ๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้
คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ลัก
พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด
[๓๙๙] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง
ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้
ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
[๔๐๐] สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน
และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ
ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ พูดเท็จ
ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด
[๔๐๑] สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา
ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้
ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ ดื่ม
เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด
[๔๐๒] เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้
ทั้งยังชักชวนคนอื่น ๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย
สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา
ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม
ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้
[๔๐๓] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา
ควรงดเว้นจากเมถุนที่เป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่ควรบริโภคอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน
[๔๐๔] ไม่ควรทัดทรงดอกไม้ ไม่ควรลูบไล้กายด้วยของหอม
ควรนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ที่ปูลาดไว้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศไว้ F
[๔๐๕] และต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้มีใจเลื่อมใส
ควรเข้าจำอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ดี
ทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริกปักษ์ G
[๔๐๖] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[๔๐๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม H
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา I
ธัมมิกสูตรที่ ๑๔ จบ
จูฬวรรคที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี ๕ คือ
(๑) นรก
(๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
(๓) แดนเปรต
(๔) มนุษย์
(๕) เทพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๐/๑๘๘)
B ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๘/๑๘๘)
C ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๖/๑๙๓)
D ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
E ธรรมที่ประณีต หมายถึงกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๙๒/๑๙๕)
F ข้อ ๔๐๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๑/๒๘๙-๒๙๐,
องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๔๓/๓๐๘
G ปาฏิหาริกปักษ์ หมายถึงกำหนดเวลา ๕ เดือน คือ เดือน ๘ ต้นแห่งวันเข้าพรรษา,
๓ เดือนภายในพรรษา, เดือน ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๕/๑๙๙)
H การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง คือ
(๑) สัตถวณิชชา(ค้าขายอาวุธ)
(๒) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์)
(๓) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์)
(๔) มัชชวณิชชา(ค้าขายน้ำเมา)
(๕) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)
I สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต