15-138 มารแปลงกายเป็นพญาช้าง



พระไตรปิฎก


๒. นาคสูตร
ว่าด้วยมารแปลงกายเป็นพญาช้าง
[๔๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธใกล้ฝั่ง
แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้ง
ในราตรีอันมืดมิด และฝนกำลังตกประปรายอยู่
[๔๒๐] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปต้องการจะให้ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้าเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงแปลงกายเป็นพญาช้างใหญ่ เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พญาช้างนั้นมีศีรษะเหมือนก้อนหินใหญ่สีดำสนิท มีงา
ทั้งสองสีเหมือนเงินยวง มีงวงเหมือนงอนไถใหญ่
[๔๒๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
ท่านแปลงกายทั้งที่งามและไม่งาม
ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน
มารผู้มีบาปเอ๋ย พอกันทีสำหรับการแปลงกายของท่าน
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
นาคสูตรที่ ๒ จบ

บาลี



นาคสุตฺต
[๔๑๙] เอวมฺเม สุต เอก สมย ภควา อุรุเวลาย วิหรติ
นชฺชา เนรฺชราย ตีเร อชปาลนิโคฺรเธ ปมาภิสมฺพุทฺโธ ฯ เตน
โข ปน สมเยน ภควา รตฺตนฺธการติมิสาย อชฺโฌกาเส นิสินฺโน
โหติ ฯ เทโว จ เอกเมก ผุสายติ ฯ
[๔๒๐] อถ โข มาโร ปาปิมา ภควโต ภย ฉมฺภิตตฺต โลมหส
อุปฺปาเทตุกาโม มหนฺต หตฺถิราชวณฺณ อภินิมฺมินิตฺวา เยน ภควา
เตนุปสงฺกมิ ฯ เสยฺยถาปิ นาม มหาอริฏฺโก มณิ เอวมสฺส สีส
โหติ ฯ เสยฺยถาปิ นาม สุทฺธ รูปิย เอวมสฺส ทนฺตา โหนฺติ ฯ
เสยฺยถาปิ นาม มหตี นงฺคลีสา เอวมสฺส โสณฺโฑ โหติ ฯ
[๔๒๑] อถ โข ภควา มาโร อย ปาปิมา อิติ วิทิตฺวา
มาร ปาปิมนฺต คาถาย อชฺฌภาสิ
สสาร ๑ ทีฆมทฺธาน วณฺณ กตฺวา สุภาสุภ
อลนฺเต เตน ปาปิม นิหโต ตฺวมสิ อนฺตกาติ ฯ
อถ โข มาโร ปาปิมา ชานาติ ม ภควา ชานาติ ม สุคโตติ
ทุกฺขี ทุมฺมโน ตตฺเถวนฺตรธายีติ ฯ

******************

๑ โป. ม. สสร ฯ

อรรถกถา


อรรถกถานาคสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในนาคสูตรที่ ๒ ต่อไป :-
บทว่า สตฺตนฺธการติมิสายํ ได้แก่ ในราตรีมืดมาก คือมืดมีองค์
๔ ที่กระทำให้เป็นประหนึ่งคนตาบอด. บทว่า อชฺโฌกาเส นิสินฺโน โหติ
ความว่า เสด็จออกจากพระคันธกุฎี วางจีวรผืนใหญ่ไว้บนพระเศียร ประทับ
นั่งกำหนดความเพียรบนแผ่นหิน ท้ายที่จงกรม.
ถามว่า มรรคที่พระตถาคคยังไม่เจริญ กิเลสที่ยังไม่ได้ละ อกุปปธรรม
ที่ยังไม่แทงตลอด หรือนิโรธที่ยังไม่ทำให้แจ้งของพระตถาคต ไม่มีเลยมิใช่
หรือ เพราะเหตุไร จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้น. ตอบว่า พระศาสดาทรง
พิจารณาเห็นประโยชน์ดังขอช้าง [บังคับช้าง] สำหรับกุลบุตรทั้งหลายในอนาคต
ว่า กุลบุตรทั้งหลายในอนาคตกาล รำลึกถึงทางที่เราตถาคคดำเนินไปแล้ว
สำคัญถึงที่อยู่ซึ่งควรอยู่กลางแจ้ง จักกระทำกรรมคือความเพียร จึงได้ทรง
กระทำดังนั้น. บทว่า มหา แปลว่า ใหญ่. บทว่า อริฏฺโก แปลว่า ดำ.
บทว่า มณิ ได้แก่ หิน. บทว่า เอวมสฺส สีสํ โหติ ความว่า ศีรษะ
ของช้างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น คือ เสมือนหินก้อนใหญ่สีดำขนาดเท่าเรือนยอด.
ด้วยบทว่า สุภาสุภํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ก็ท่านท่องเที่ยวอยู่
ตลอดกาลยาวนาน มาแปลงเพศทั้งดีและไม่ดี. อีกนัยหนึ่ง. บทว่า สํสรํ
แปลว่า ท่องเที่ยวมา. บทว่า ทีฆมทฺธานํ ได้แก่ ตลอดทางไกลตั้งแต่ถิ่น
ของท้าววสวัตดี จนถึงตำบลอุรุเวลาและตลอดกาลนาน กล่าวคือสมัยทรง
บำเพ็ญทุกกรกิริยาตลอด ๖ ปี ก่อนตรัสรู้. บทว่า วณฺณํ กตฺวา สุภาสุภํ
ความว่า ท่านแปลงเพศ ทั้งดีและไม่ดี มีประการต่าง ๆ มายังสำนักเรา
หลายครั้ง. ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่า เพศนั้นไม่มีดอก. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
อย่างนั้นกับมาร ก็โดยเพศที่มารไม่เคยมายังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อ
ประสงค์จะหลอกให้ทรงหวาดกลัว. บทว่า อลนฺเต เตน ความว่า ดูก่อน
มาร ท่านขวนขวายแสดงสิ่งที่น่ากลัวน่าจะพอกันที.
จบอรรถกถานาคสูตรที่ ๒

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!