15-124 การหุงข้าวสารทะนานหนึ่ง



พระไตรปิฎก


๓. โทณปากสูตร
ว่าด้วยการหุงข้าวสารทะนานหนึ่ง
[๓๖๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารที่หุงด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง
ทรงอึดอัด เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง
ณ ที่สมควร
[๓๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยแล้วทรงอึดอัด
จึงได้ตรัสคาถานี้ในเวลานั้นว่า มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว
ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยั่งยืน
[๓๖๖] สมัยนั้น มาณพชื่อสุทัสสนะ ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกสุทัสสนมาณพมาตรัสว่า “มานี่สุทัสสนะ
เจ้าจงเรียนคาถาในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วจงกล่าวในเวลาที่เราเสวย
กระยาหาร อนึ่ง เราจะให้ค่าอาหารแก่เจ้าวันละ ๑๐๐ กหาปณะ”
สุทัสสนมาณพรับสนองพระดำรัสพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “เป็นพระมหากรุณา
อย่างยิ่ง พระเจ้าข้า” แล้วเรียนคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าว
ในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารว่า มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ
รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยั่งยืน
[๓๖๗] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำรงอยู่ได้โดยเสวยพระกระยาหาร
ทะนานหนึ่ง เป็นอย่างมากเรื่อยมา ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล
มีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์
ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงอนุเคราะห์เรา
ด้วยประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันและ
ประโยชน์ในภายหน้าอย่างแท้จริง”
โทณปากสูตรที่ ๓ จบ

บาลี



โทณปากสุตฺต
[๓๖๔] สาวตฺถิย วิหรติ … เตน โข ปน สมเยน ราชา
ปเสนทิโกสโล โทณปากสุธ ภุฺชติ ฯ อถ โข ราชา
ปเสนทิโกสโล ภุตฺตาวี มหสฺสาสี เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ
อุปสงฺกมิตฺวา ภควนฺต อภิวาเทตฺวา เอกมนฺต นิสีทิ ฯ
[๓๖๕] อถ โข ภควา ต ราชาน ปเสนทิโกสล ภุตฺตาวึ
มหสฺสาสึ วิทิตฺวา ตาย เวลาย อิม คาถ อภาสิ
มนุชสฺส สทา สติมโต
มตฺต ชานโต ลทฺธโภชเน
ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา
สณิก ชีรติ อายุ ปาลยนฺติ ฯ
[๓๖๖] เตน โข ปน สมเยน สุทสฺสโน มาณโว รฺโ
ปเสนทิโกสลสฺส ปิฏฺิโต ิโต โหติ ฯ อถ โข ราชา ปเสนทิโกสโล
สุทสฺสน มาณว อามนฺเตสิ เอหิ ตฺว ตาต สุทสฺสน ภควโต
สนฺติเก อิม คาถ ปริยาปุณิตฺวา มม ภตฺตาภิหาเร ภาส
อหฺจ เต เทวสิก กหาปณสต นิจฺจภตฺต ปวตฺตยิสฺสามีติ ฯ
ปรม โภติ โข สุทสฺสโน มาณโว รฺโ ปเสนทิโกสลสฺส
ปฏิสฺสุณิตฺวา ภควโต สนฺติเก อิม คาถ ปริยาปุณิตฺวา รฺโ
ปเสนทิโกสลสฺส ภตฺตาภิหาเร ภาสติ
มนุชสฺส สทา สติมโต
มตฺต ชานโต ลทฺธโภชเน
ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา
สณิก ชีรติ อายุ ปาลยนฺติ ฯ
[๓๖๗] อถ โข ราชา ปเสนทิโกสโล อนุปุพฺเพน นาฬิโกทนปรมตาย
สณฺาสิ ฯ อถ โข ราชา ปเสนทิโกสโล อปเรน สมเยน
สุสลฺลิขิตคตฺโต ปาณินา คตฺตานิ อนุมชฺชนฺโต ตาย เวลาย
อิม อุทาน อุทาเนสิ อุภเยน วต ม โส ภควา อตฺเถน อนุกมฺปิ
ทิฏฺธมฺมิเกน เจว อตฺเถน สมฺปรายิเกน จาติ ฯ

 

อรรถกถา


อรรถกถาโทณปากสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในโทษปากสูตรที่ ๓ ต่อไป :-
บทว่า โทณปากสุทํ ได้แก่ พระกระยาหาร คือข้าวสุกแห่งข้าว
สารทะนานหนึ่ง. อธิบายว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาร
ทะนานหนึ่ง และแกงกับที่เหมาะแก่ข้าวสุกนั้น. บทว่า ภุตฺตาวี ความว่า
ทรงบรรเทาความเมาในพระกระยาหารก่อนแล้วพักผ่อนครู่หนึ่งแล้วจึงเสด็จไป
เฝ้าพระพุทธองค์ แต่วันนั้น ท้าวเธอกำลังเสวย ระลึกถึงพระทศพล ก็ล้าง
พระหัตถ์แล้วเสด็จไป. บทว่า มหสฺสาสี ความว่า ท้าวเธอกำลังเสด็จไปก็
เกิดความกระวนกระวายเพราะพระกระยาหาร อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น จึง
ทรงหายใจ ด้วยพระอัสสาสะอย่างแรง หยาดพระเสโทก็ไกลออกจากพระวรกาย
ของพระองค์ พวกราชบุรุษต้องยืนประคองทั้งสองข้าง พัดวีพระองค์ด้วยขั้วใบ
ตาลคู่ แต่ท้าวเธอก็ไม่อาจบรรทม เพราะทรงคารวะในพระพุทธองค์. ท่านหมาย
เอาข้อนี้จึงกล่าวว่า มหสฺสาสี. บทว่า อิมํ คาถํ อภาสิ ความว่า พระผู้มี
พระภาคเจ้า ทรงพระดำริว่า พระราชาทรงลำบาก เพราะไม่ทรงรู้จักประมาณใน
โภชนะ เราจักทำพระองค์ให้อยู่ผาสุก ณ บัดนี้ แล้วจึงได้ตรัส [พระคาถานี้].
บทว่า มนุชสฺส แปลว่า สัตว์. บทว่า กหาปณสตํ ได้แก่ ๑๐๐ กหาปณะ
อย่างนี้คือ เวลาพระกระยาหารเช้า ๕๐ เวลาพระกระยาหารเย็น ๕๐. บทว่า
ปาปุณิตฺวา ความว่าไปกับพระราชาได้หน่อยหนึ่ง ก็ทูลว่าขอเดชะข้าพระบาท
จะให้พระแสงดาบมงคลเล่มนี้แก่ใคร พระเจ้าข้า เมื่อท้าวเธอรับสั่งว่า ให้แก่คน
โน้น สุทัศนมาณพนั้น ก็ให้ดาบนั้น กลับมาสำนักพระทศพล ยืนถวาย
บังคมแล้วทูลว่า ท่านพระโคดมเจ้าข้า โปรดตรัสพระคาถาแล้วก็เรียนพระคาถา
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว. ถามว่า ได้ยินว่า สุทัศนมาณพกล่าวพระ-
คาถาทุกเวลาที่เทียบพระเครื่องกล่าวอย่างไร. ตอบว่า กล่าวโดยทำนองที่พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนมาณพนั้นอย่าง
นี้ว่า ดูก่อนมาณพ เจ้าอย่ากล่าวคาถานี้พร่ำเพรื่อ ในที่ไปถึง ๆ (เหมือนนัก
ร้องนักรำ) จงยืนใกล้ที่เสวยของพระราชา อย่ากล่าวเมื่อเสวยพระกระยาหารก้อน
แรก พึงกล่าวเมื่อทรงถือก้อนสุดท้าย พระราชาทรงได้ยินแล้ว จักทรงทิ้งก้อน
ข้าว เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็พึงชักถาดออกมานับเมล็ดข้าว
[ได้เท่าใด] รู้จักกับแกล้มที่ผสมกับข้าวนั้น [แยกกับข้าวออก] วันรุ่งขึ้น ก็
พึงลดข้าวสารเสียเพียงเท่านั้น พึงกล่าวเฉพาะในเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
อย่ากล่าวในเวลาเสวยพระกระยาหารเย็น มาณพนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ได้
กล่าวคาถาโดยทำนองที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนในเวลาเสวยพระกระยา-
หารเย็น เพราะในวันนั้นพระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จเสด็จไปเสีย
แล้ว. พระราชาทรงระลึกถึงพระดำรัสของพระทศพล ก็ทิ้งก้อนข้าวลงในถาด
นั่นแหละ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว มาณพก็ชักถาดออกมานับเมล็ดข้าว [ได้
เท่าใด] วันรุ่งขึ้น ก็ลดข้าวสารเสียเท่านั้น.
บทว่า นาฬิโกทนปรมตาย สณฺฐาสิ ความว่า ได้ยินว่า มาณพ
นั้น ไปสำนักพระตถาคตทุกวันเป็นผู้คุ้นกับพระทศพล. ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้
มีพระภาคเจ้าตรัสถามมาณพนั้นว่า พระราชาเสวยเท่าไร. มาณพนั้นทูลตอบว่า
ข้าวสุกทะนานหนึ่ง พระเจ้าข้า ตรัสว่าด้วยปริมาณเพียงเท่านี้ ส่วนของบุรุษนี้
นับว่าเหมาะ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่ากล่าวคาถาเลย. ดั่งนั้น พระราชาจึงดำรงอยู่
ในปริมาณนั้นนั่นแล ในคำว่า ทิฏฺฐธมฺมิเกน เจว อตฺเถน สมฺปรายิเกน จ
นี้ความที่พระราชามีพระสรีระ สละสลวย ชื่อว่าเป็นประโยชน์ปัจจุบัน. ศีลชื่อว่า
ประโยชน์ภายหน้า. ด้วยว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมชื่อว่าเป็น
องค์ [ส่วน] ของศีลแล.
จบอรรถกถาโทณปากสูตรที่ ๓

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!