26-470 คาถาของพระสุนทรีเถรี



พระไตรปิฎก


๔. สุนทรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุนทรีเถรี

(สุชาตพราหมณ์ผู้เป็นบิดา เมื่อจะถามถึงเหตุแห่งการบรรเทาความเศร้าโศก
จึงถามพระวาสิฏฐีเถรีด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
{๔๗๐} [๓๑๓] นางผู้เจริญ เมื่อก่อน เจ้ากินลูก ๆ ให้ตายไป
เจ้าเดือดร้อนอย่างยิ่งทั้งกลางวันและกลางคืน
[๓๑๔] พราหมณี วันนี้ เจ้านั้นกินลูกหมดทั้ง ๗ คน
แม่วาสิฏฐี เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่เดือดร้อนหนักหนาเล่า
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๕] ท่านพราหมณ์ ในส่วนอดีต
ลูกและหมู่ญาติของเราหลายร้อยคน
เราและท่านก็กินกันมาแล้ว
[๓๑๖] เรานั้นรู้นิพพานที่เป็นธรรมเครื่องสลัด
ซึ่งความเกิดและความตายออกเสีย
จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ และไม่เดือดร้อน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๑๗] แม่วาสิฏฐี น่าอัศจรรย์จริงหนอที่เจ้ากล่าววาจาเช่นนี้
เจ้ารู้ธรรมของใครเล่า
จึงกล่าววาจาเช่นนี้
(พระวาสิฏฐีเถรีกล่าวว่า)
[๓๑๘] ท่านพราหมณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จมาถึงเมืองมิถิลา
ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อละทุกข์ทั้งปวง
[๓๑๙] ท่านพราหมณ์ เราฟังธรรมที่ปราศจากอุปธิกิเลส A
ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
รู้แจ้งพระสัทธรรมในธรรมเทศนานั้นแล้ว
จึงบรรเทาความเศร้าโศกถึงลูกเสียได้
(สุชาตพราหมณ์กล่าวว่า)
[๓๒๐] ถึงเรานั้นก็จักไปเมืองมิถิลาเหมือนกัน
ถ้าอย่างไร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ก็คงจะทรงช่วยปลดเปลื้องเราจากทุกข์ทั้งสิ้นได้แน่
[๓๒๑] พราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
พระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์นั้น
[๓๒๒] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๓๒๓] สุชาตพราหมณ์รู้แจ้งพระสัทธรรม
ในพระธรรมเทศนาคืออริยสัจ ๔ นั้นแล้ว
เข้าบวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
(พระสุชาตพราหมณ์กล่าวกับนายสารถีว่า)
[๓๒๔] มานี่สิ สารถี เธอจงกลับไป
จงมอบรถคันนี้ให้พราหมณีด้วย
และช่วยบอกนางพราหมณีถึงความสบาย ไม่เจ็บป่วยว่า
บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
[๓๒๕] ลำดับนั้น นายสารถีนำรถและทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
ไปมอบให้นางพราหมณี และได้บอกนางพราหมณีถึงความสบาย
ไม่เจ็บป่วยว่า บัดนี้ สุชาตพราหมณ์บวชได้ ๓ วัน ก็ได้บรรลุ
วิชชา ๓ แล้ว
(พราหมณีกล่าวว่า)
[๓๒๖] นายสารถี ฉันฟังเรื่องพราหมณ์ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
ขอมอบรถม้าคันนี้และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
เป็นรางวัลตอบแทนเจ้าที่ให้ข่าวดี
(นายสารถีไม่ยอมรับ กลับกล่าวว่า)
[๓๒๗] ข้าแต่พราหมณี รถม้ากับทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ
จงเป็นของแม่เจ้าตามเดิมเถิด
ถึงตัวข้าพเจ้าก็จักบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
(พราหมณีกล่าวกับสุนทรีธิดาว่า)
[๓๒๘] บิดาของลูก ละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และเครื่องอุปกรณ์เรือนมากมายนี้
ออกบวชเสียแล้ว
ลูกสุนทรีลูกจงบริโภคโภคสมบัติทั้งหลาย
จงเป็นทายาทรับมรดกในตระกูล นะลูก
(สุนทรีฟังคำของมารดานั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความที่ตนตั้งใจจะออกบวช
จึงได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[๓๒๙] บิดาของลูกกระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงลูกชาย
จึงละช้าง ม้า โค แก้วมณี แก้วกุณฑล
และอุปกรณ์เรือนที่น่ารื่นรมย์นี้ออกบวช
ถึงลูกก็กระทบกระเทือนใจ
เพราะความเศร้าโศกถึงพี่ชายมาก
ก็จักออกบวชด้วย
(ลำดับนั้น มารดาเมื่อจะชักนำสุนทรีธิดาในทางเนกขัมมะ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[๓๓๐] ลูกสุนทรี ขอความดำริของลูกจงสำเร็จตามที่ลูกปรารถนาเถิด
ลูกเมื่อใช้สอยสิ่งเหล่านี้ คือ ก้อนข้าวที่พึงลุกขึ้นยืนรับ
การเที่ยวแสวงหาอาหาร และนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
จงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในโลกหน้าเถิด
(พระสุนทรีจึงกล่าวขออนุญาตพระภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์ว่า)
[๓๓๑] ข้าแต่แม่เจ้า ดิฉันเมื่อเป็นสิกขมานา
ก็ชำระทิพยจักขุให้หมดจดได้แล้ว
ดิฉันระลึกรู้ถึงชาติก่อนที่เคยอยู่อาศัยมาได้
[๓๓๒] ข้าแต่แม่เจ้า ผู้มีคุณความดีเป็นผู้งามในหมู่พระเถรี
เพราะอาศัยแม่ท่าน ดิฉันบรรลุวิชชา ๓
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[๓๓๓] ข้าแต่แม่เจ้า โปรดอนุญาตเถิดเจ้าค่ะ
ดิฉันประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี
จักบันลือสีหนาทในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
(พระสุนทรีเถรีไปถึงกรุงสาวัตถีแล้ว เข้าไปยังพระวิหาร ได้เห็นพระศาสดา
ประทับนั่งอยู่บนธรรมาสน์ จึงพูดกับตนเองว่า)
[๓๓๔] สุนทรีท่านจงดูพระศาสดาผู้มีพระรัศมีดังทองคำ
มีพระฉวีวรรณเรืองรองดังทองคำ
ทรงฝึกเหล่าชนที่ใคร ๆ ฝึกไม่ได้
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า)
[๓๓๕] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรหม่อมฉันผู้ชื่อว่าสุนทรี
ซึ่งหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
ปราศจากราคะ ไม่เกาะเกี่ยว
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้วมาเฝ้าอยู่
[๓๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ สุนทรีสาวิกาของพระองค์
ออกจากกรุงพาราณสี มาเฝ้าพระองค์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทอยู่
[๓๓๗] พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นพราหมณ์
หม่อมฉันเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระองค์
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะชมเชยการมาเฝ้าของนาง จึงได้ตรัสว่า)
[๓๓๘] สุนทรีผู้เจริญ เธอมาดีแล้ว มาไม่เลวเลย
เพราะว่าผู้ที่ฝึกแล้วอย่างนี้ ปราศจากราคะ
ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีอาสวะ
ทำกิจเสร็จแล้ว ย่อมมากราบเท้าพระศาสดา
เชิงอรรถ
A ปราศจากทุกข์ (ขุ.เถรี.อ. ๓๑๙/๒๙๕)

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!