10-135 หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล



พระไตรปิฎก


กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล

{๒๗๗}[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต A
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้
ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน B อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก C อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้น มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล จบ
เชิงอรรถ
A คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปล คำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปลคำวักกะ ว่า “ไต” และแปลคำปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล “วักกะ” ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ“ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary; Rhys Davids. T.W. Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง “ไต” (Kidney)
B กายภายใน ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของตน (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)
C กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.