10-102 บริขารแห่งสมาธิ 7 ประการ
- พระไตรปิฎก
- บาลี
- อรรถกถา
พระไตรปิฎก
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ A
{๒๐๖}[๒๙๐] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติบริขารแห่ง
สมาธิ B ๗ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติอย่างดี ก็เพียงเพื่อความเจริญ เพื่อความ
บริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม
เรียกว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ C’ บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีบริขาร’ บ้าง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิ จึงมีสัมมาสังกัปปะ ผู้มีสัมมาสังกัปปะ
จึงมีสัมมาวาจา ผู้มีสัมมาวาจา จึงมีสัมมากัมมันตะ ผู้มีสัมมากัมมันตะ จึงมี
สัมมาอาชีวะ ผู้มีสัมมาอาชีวะ จึงมีสัมมาวายามะ ผู้มีสัมมาวายามะ จึงมีสัมมาสติ
ผู้มีสัมมาสติ จึงมีสัมมาสมาธิ ผู้มีสัมมาสมาธิ จึงมีสัมมาญาณะ ผู้มีสัมมาญาณะ
จึงมีสัมมาวิมุตติ
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงองค์ธรรมใดว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล D ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าว
ถึงองค์ธรรมที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แลว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่าใดประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ประกอบด้วย
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ชนเหล่านี้
เป็นโอปปาติกะ เป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ(ให้ตั้งอยู่)ในธรรมแล้ว เป็นชาว
มคธ มีจำนวนมากกว่า ๒,๔๐๐,๐๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า อนึ่ง ในชนจำนวนนั้น ผู้ที่เป็นพระสกทา-
คามีก็มีอยู่
ข้าพเจ้ากลัวการพูดเท็จจึงไม่อาจคิดคำนวณว่า
‘ในจำนวนนั้น เหล่าชนนอกนี้ E
เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ F (นั้นด้วยหรือไม่)’
{๒๐๗}[๒๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว เมื่อสนัง-
กุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้อยู่ ท้าวเวสวัณมหาราชทรงดำริอย่างนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้
จักปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’ ลำดับนั้น สนังกุมารพรหม ทรงทราบ
พระดำริของท้าวเวสวัณมหาราชด้วยพระทัย จึงตรัสกับท้าวเวสวัณมหาราชดังนี้ว่า
‘เวสวัณมหาราชผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ในอดีตกาลก็ได้มีพระศาสดาผู้ยิ่ง
เช่นนี้ ได้มีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ ได้ปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้ ถึงใน
อนาคตกาลก็จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ จักปรากฏ
การบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’
{๒๐๘}[๒๙๒] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว
ท้าวเวสวัณมหาราชทรงนำเนื้อความนี้ที่ได้ทรงสดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของ
สนังกุมารพรหมผู้ตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสบอกแก่บริษัทของพระองค์
ชนวสภยักษ์นำเนื้อความนี้ที่ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของท้าวเวสวัณมหาราชที่
ตรัสแก่บริษัทของพระองค์มากราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรง
สดับรับเนื้อความนี้มาเฉพาะหน้าของชนวสภยักษ์ด้วย ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เองด้วย
แล้วตรัสบอกแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้สดับรับเนื้อความนั้นมาเฉพาะ
พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคแล้วบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
พรหมจรรย์ G นี้นั้น จึงบริบูรณ์กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่ง
เทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้’
ชนวสภสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๒๘/๒๘, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๔๕/๖๘
B บริขารแห่งสมาธิ ในที่นี้หมายถึงบริวาร หรือองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, องฺ.สตฺตก อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๒)
C อุปนิสะ หมายถึงอุปนิสัย ในที่นี้ได้แก่หมวดธรรมที่เป็นเหตุทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, ที.ม.ฏีกา ๒๙๐/๒๖๗)
D ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๕๘ หน้า ๑๐๓ ในเล่มนี้
E เหล่าชนนอกนี หมายถึงพระอนาคามี (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)
F เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ หมายถึงบังเกิดแล้วด้วยส่วนแห่งบุญ (ที. ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)
G พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (ที.ม.อ. ๒๙๒/๒๕๘)