12-149 การละสังโยชน์



พระไตรปิฎก


การละสังโยชน์
{๒๘๕} [๒๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว A ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว B ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘ C ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ถอนลิ่ม ได้แล้วบ้าง เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้วบ้าง เป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้วบ้าง เป็นผู้ไม่มีบานประตูบ้าง เป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากสังโยชน์(กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ)แล้วบ้าง
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอวิชชาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละสังขารคือชาติ D ซึ่งก่อภพใหม่ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละตัณหาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ E ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ปราศจาก
สังโยชน์แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะ(การถือตัว) ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ปราศจากสังโยชน์แล้ว เป็นอย่างนี้
เชิงอรรถ
A-C ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
D สังขารคือชาติ หมายถึงกัมมาภิสังขาร อันเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ที่เกิดในภพใหม่ เพราะเกิดและท่องเที่ยวไป ในชาติต่าง ๆ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๕/๒๒)
E โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ
(๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตา
(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
(๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร
(๔) กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
(๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ อันเป็นเหตุให้เกิดในกามภพ
(ม.มู.อ. ๒/๒๔๕/๒๒)

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.