15-025 พระอรหันต์
พระไตรปิฎก
๕. อรหันตสูตร
ว่าด้วยพระอรหันต์
[๖๔] เทวดากล่าวว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
[๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดที่รู้กันในโลก
เธอกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน
[๖๖] เทวดานั้นทูลถามว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นยังติดมานะอยู่หรือหนอ
จึงกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
[๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
กิเลสเครื่องผูกทั้งหลายไม่มีแก่ภิกษุผู้ละมานะได้แล้ว
มานะและกิเลสเครื่องผูกทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดได้แล้ว
ภิกษุผู้มีปัญญาดีล่วงพ้นความถือตัวได้แล้ว
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดที่รู้กันในโลก
เธอกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน
อรหันตสูตรที่ ๕ จบ
บาลี
อรหนฺตสุตฺต
[๖๔] โย โหติ ภิกฺขุ อรห กตาวี
ขีณาสโว อนฺติมเทหธารี ๖
อห วทามีติปิ โส วเทยฺย
มม วทนฺตีติปิ โส วเทยฺยาติ ฯ
[๖๕] โย โหติ ภิกฺขุ อรห กตาวี
ขีณาสโว อนฺติมเทหธารี
อห วทามีติปิ โส วเทยฺย
มม วทนฺตีติปิ โส วเทยฺย
โลเก สมฺ กุสโล วิทิตฺวา
โวหารมตฺเตน โส โวหเรยฺยาติ ฯ
[๖๖] โย โหติ ภิกฺขุ อรห กตาวี
ขีณาสโว อนฺติมเทหธารี
มาน นุ โข โส อุปาคมฺม ๑ ภิกฺขุ
อห วทามีติปิ โส วเทยฺย
มม วทนฺตีติปิ โส วเทยฺยาติ ฯ
[๖๗] ปหีนมานสฺส น สนฺติ คนฺถา
วิธูปิตา มานคนฺถสฺส ๒ สพฺเพ
ส วีติวตฺโต ยมต สุเมโธ
อห วทามีติปิ โส วเทยฺย
มม วทนฺตีติปิ โส วเทยฺย ๓
โลเก สมฺ ๔ กุสโล วิทิตฺวา
โวหารมตฺเตน โส โวหเรยฺยาติ ฯ
******************
#๑ โป. ม. อุปคมฺม ฯ ๒ สี. ม. มานคนฺธสฺส ฯ ๓ สี. อย ปาโ นตฺถิ ฯ
#๔ โป. ม. มฺต. ฯ
#๖ สี. สพฺพตฺถหนฺติมเทหธารีติ ปาโ ทิสฺสติ ฯ
อรรถกถา
อรรถกถาอรหันตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอรหันตสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
บทว่า กตาวี แปลว่า มีกิจทำเสร็จแล้ว คือ มีกิจอันมรรค ๔
ทำแล้ว. บทว่า อหํ วทามิ ความว่า เทวดาผู้อยู่ในไพรสณฑ์นี้นั้น ฟัง
โวหารของพวกภิกษุอยู่ป่าพูดกันว่า เราฉันอาหาร เรานั่ง บาตรของเรา จีวร
ของเรา เป็นต้น จึงคิดว่า เราสำคัญว่าภิกษุเหล่านี้ เป็นพระขีณาสพ ก็แต่
ถ้อยคำอิงอาศัยความเห็นว่าเป็นคนเป็นสัตว์ชื่อเห็นปานนี้ของพระขีณาสพ
ทั้งหลาย มีอยู่หรือไม่หนอ ดังนี้ เพื่อจะทราบความเป็นไปนั้น จึงได้กราบทูล
ถามแล้วอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุใด เป็นผู้ไกลจากกิเลส
มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุ
นั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลอื่น ๆ พูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้น
ฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน. บทว่า สมญฺํ
แปลว่า คำพูด ถือเป็นภาษาของชาวโลก เป็นโวหารของชาวโลก. บทว่า
กุสโล แปลว่า ฉลาด คือ ฉลาดในธรรมมีขันธ์เป็นต้น. บทว่า โวหาร-
มตฺเตน แปลว่า กล่าวตามสมมติที่พูดกัน ได้แก่ เมื่อละเว้น ถ้อยคำอัน-
อิงอาศัยความเห็นเป็นคนเป็นสัตว์แล้ว ไม่นำคำที่พูดให้แตกต่างกัน จึงสมควร
ที่จะกล่าวว่า เรา ของเรา ดังนี้ จริงอยู่ เมื่อเขากล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลาย
ย่อมบริโภค ขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง บาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์
ทั้งหลาย ดังนี้ ความแตกต่างกันแห่งคำพูดมีอยู่ แต่ใคร ๆ ก็ทราบไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระขีณาสพ จึงไม่พูดเช่นนั้น ย่อมพูดไปตามโวหารของชาว
โลกนั่นแหละ.
ลำดับนั้น เทวดาจึงคิดว่า ถ้าภิกษุนี้ไม่พูดด้วยทิฐิ ก็ต้องพูดด้วย
อำนาจแห่งมานะแน่ จึงทูลถามอีกว่า โย โหติ เป็นต้น แปลว่า ภิกษุใด
เป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกาย
อันมีในที่สุด ภิกษุนั้นยังติดนานะหรือหนอ จึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง
คนอื่น ๆ พูดกะเราดังนี้บ้าง. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยังติดมานะหรือ
หนอ ได้แก่ ภิกษุนั้น ยังติดมานะ พึงกล่าวด้วยสามารถแห่งมานะ หรือหนอ.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริว่า เทวดานี้ย่อมทำพระ-
ขีณาสพเหมือนบุคคลมีมานะ ดังนี้ เมื่อจะทรงแสดงว่า มานะแม้ทั้ง ๙ อย่าง
พระขีณาสพละได้หมดแล้ว จึงตรัสพระคาถาตอบว่า
กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มี
แก่ภิกษุที่ละมานะเสียแล้ว มานะและ
คันถะทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว
ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดีล่วงเสียแล้วซึ่งความ
สำคัญตน ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด
ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้
บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก
พึงกล่าวความสมมติที่พูดกัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิธูปิตา แปลว่า กำจัดเสียแล้ว. บทว่า
มานคนฺถสฺส แปลว่า มานะและคันถะ. . .อันภิกษุนั้น. คำว่า สมญฺํ
หมายถึง คำพูดที่สำคัญตน. อธิบายว่า พระขีณาสพนั้นเป็นผู้ครอบงำได้แล้ว
คือ ก้าวล่วงแล้วซึ่งความสำคัญตนในตัณหา ทิฏฐิ และมานะ. คำที่เหลือมี
เนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาอรหันตสูตรที่ ๕