20-095 พระเจ้าปเจตนะรับสั่งให้ช่างทำล้อรถ



พระไตรปิฎก


๕. ปเจตนสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเจตนะรับสั่งให้ช่างทำล้อรถ

{๔๕๔}[๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า
ปเจตนะ ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะรับสั่งเรียกนายช่างรถมาตรัสว่า “นายช่างรถสหาย
รัก นับแต่นี้ไปอีก ๖ เดือน ฉันจะทำสงคราม ท่านจะสามารถทำล้อคู่ใหม่ให้ฉัน
ได้ไหม”
นายช่างรถทูลว่า “สามารถ พระเจ้าข้า”
ลำดับนั้น นายช่างรถทำล้อข้างหนึ่งสำเร็จโดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน
พระเจ้าปเจตนะรับสั่งเรียกนายช่างรถมาตรัสว่า “นายช่างรถสหายรัก นับ
จากนี้ไป ๖ วัน ฉันจะทำสงคราม ล้อคู่ใหม่ทำสำเร็จแล้วหรือ”
นายช่างรถทูลว่า “ล้อข้างหนึ่งทำสำเร็จแล้วโดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน
พระเจ้าข้า”
พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า “นายช่างรถสหายรัก โดยใช้เวลา ๖ วันนับ
จากวันนี้ ท่านจักสามารถทำล้อที่ ๒ สำเร็จได้ไหม”
นายช่างรถทูลรับรองว่า “สามารถ พระเจ้าข้า” แล้วทำล้อที่ ๒ สำเร็จโดย
ใช้เวลา ๖ วัน ถือล้อคู่ใหม่เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะถึงที่ประทับ ได้ทูลพระเจ้า
ปเจตนะว่า “ขอเดชะ ล้อคู่ใหม่นี้ของพระองค์สำเร็จแล้ว”
พระเจ้าปเจตนะรับสั่งถามว่า “นายช่างรถสหายรัก ล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้
เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน กับล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๖ วันของท่าน มี
เหตุอะไรทำให้แตกต่างกัน ฉันจะเห็นเหตุที่ทำให้แตกต่างกันได้อย่างไร”
นายช่างรถทูลว่า “ขอเดชะ เหตุที่ทำให้แตกต่างกันมีอยู่ ขอพระองค์จง
ทอดพระเนตรความแตกต่างกันเถิด”
ลำดับนั้นแล นายช่างรถหมุนล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๖ วัน ล้อนั้นเมื่อ
นายช่างรถหมุนก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนแล้วหมุนเวียนล้มลงที่พื้นดิน นาย
ช่างรถหมุนล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน ล้อนั้นเมื่อนายช่างรถ
หมุนก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนแล้วตั้งอยู่ได้เหมือนอยู่ในเพลา
พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า “อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ล้อข้างที่ทำสำเร็จ
โดยใช้เวลา ๖ วันนี้เมื่อท่านหมุนไปจึงหมุนไปได้เท่าที่ท่านหมุนแล้วหมุนเวียนล้มลงที่
พื้นดิน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน
เมื่อท่านหมุนจึงหมุนไปได้เท่าที่ท่านหมุนแล้วตั้งอยู่ได้เหมือนอยู่ในเพลา”
นายช่างรถกราบทูลว่า “ขอเดชะ กงของล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๖ วัน
คด มีปุ่มปม ทั้งแก่นและกระพี้ยังมียาง แม้กำก็คด มีปุ่มปม ทั้งแก่นและกระพี้
ยังมียาง แม้ดุมก็คด มีปุ่มปม ทั้งแก่นและกระพี้ยังมียาง เพราะกงคด เป็นปุ่มปม
ทั้งแก่นและกระพี้ยังมียาง เพราะแม้กำก็คด เป็นปุ่มปม ทั้งแก่นและกระพี้ยังมียาง
เพราะแม้ดุมก็คด เป็นปุ่มปม ทั้งแก่นและกระพี้ยังมียาง ล้อนั้นเมื่อข้าพระองค์
หมุนจึงหมุนไปได้เท่าที่ข้าพระองค์หมุนแล้วหมุนเวียนล้มลงที่พื้นดิน ขอเดชะ ส่วน
กงของล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน ไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มี
แก่นและกระพี้ที่มียาง แม้กำก็ไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มีแก่นและกระพี้ที่มียาง แม้ดุม
ก็ไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มีแก่นและกระพี้ที่มียาง เพราะกงไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มี
แก่นและกระพี้ที่มียาง เพราะแม้กำก็ไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มีแก่นและกระพี้ที่มียาง
เพราะแม้ดุมก็ไม่คด ไม่มีปุ่มปม ไม่มีแก่นและกระพี้ที่มียาง ล้อนั้นเมื่อข้าพระองค์
หมุนจึงหมุนไปได้เท่าที่ข้าพระองค์หมุนแล้วตั้งอยู่ได้เหมือนอยู่ในเพลา”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ว่า “สมัยนั้น นายช่างรถคงเป็น
คนอื่นแน่” แต่ข้อนี้เธอทั้งหลายไม่พึงเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราคือนายช่างรถนั้น
ในครั้งนั้นเราเป็นคนฉลาดในความคดของไม้ ในปุ่มปมของไม้ ในแก่นและกระพี้ที่มี
ยางของไม้ แต่ในปัจจุบันนี้เราเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (๑) ฉลาดในความคด
ของกาย โทษของกาย มลทิน A ของกาย (๒) ฉลาดในความคดของวาจา โทษของ
วาจา มลทินของวาจา (๓) ฉลาดในความคดของใจ โทษของใจ มลทินของใจ ภิกษุ
หรือภิกษุณีผู้ไม่ละความคดของกาย โทษของกาย มลทินของกาย ไม่ละความคดของ
วาจา โทษของวาจา มลทินของวาจา และไม่ละความคดของใจ โทษของใจ มลทิน
ของใจ ชื่อว่าได้พลัดตกไปจากธรรมวินัยนี้เหมือนล้อข้างที่ทำสำเร็จโดยใช้เวลา ๖ วัน
ภิกษุหรือภิกษุณีผู้ละความคดของกาย โทษของกาย และมลทินของกาย
ละความคดของวาจา โทษของวาจา และมลทินของวาจา ละความคดของใจ โทษ
ของใจ และมลทินของใจ ชื่อว่าดำรงมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้เหมือนล้อข้างที่ทำสำเร็จ
โดยใช้เวลา ๕ เดือน ๒๔ วัน
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักละความ
คดของกาย โทษของกาย และมลทินของกาย จักละความคดของวาจา โทษของ
วาจา และมลทินของวาจา จักละความคดของใจ โทษของใจ และมลทินของใจ”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ปเจตนสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ความคด โทษ และมลทิน ในที่นี้หมายถึงทุจริต ๓ คือ กายทุจริต(ความประพฤติชั่วด้วยกาย) วจีทุจริต
(ความประพฤติชั่วด้วยวาจา) และมโนทุจริต(ความประพฤติชั่วด้วยใจ) (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๕/๘๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.