15-215 การปวารณา



พระไตรปิฎก


๗. ปวารณาสูตร
ว่าด้วยการปวารณา
[๗๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาท
ของนางวิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ
๕๐๐ รูป ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์
แวดล้อม ประทับนั่งในที่กลางแจ้ง เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ผู้นั่งสงบเงียบ จึงรับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอปวารณาต่อเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจะไม่ติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ”
[๗๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นจากอาสนะ
ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียนกรรมอะไร ๆ
อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาคไม่ได้เลย เพราะว่า
พระผู้มีพระภาคทรงทำทางที่ยังไม่อุบัติให้อุบัติ ทรงทำทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทรงบอก
ทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทาง ทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทาง ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง บัดนี้ ข้าพระองค์ขอปวารณาต่อ
พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทางกาย
หรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เราติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทางกาย
หรือทางวาจาของเธอไม่ได้เลย เธอเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง
มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส A สารีบุตร
โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิยังจักรอันพระราชบิดาทรงให้เป็นไปแล้วให้เป็น
ไปตามได้โดยชอบ ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเรา
ให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง”
ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มี
พระภาคไม่ทรงติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของ
ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมอะไร ๆ อันเป็นไปทาง
กายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้
ภิกษุ ๖๐ รูปเป็นผู้ได้วิชชา ๓ อีก ๖๐ รูปได้อภิญญา ๖ อีก ๖๐ รูปได้อุภโตภาค-
วิมุตติ A ส่วนที่เหลือเป็นผู้ได้ปัญญาวิมุตติ”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค เนื้อความนี้ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อม
ปรากฏแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เนื้อความนั้นจงปรากฏแก่เธอเถิด วังคีสะ”
[๗๔๖] ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย
อันสมควร ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ว่า
ในวัน ๑๕ ค่ำซึ่งเป็นวันวิสุทธิปวารณา
วันนี้ มีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาประชุมกัน
ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ขาด
ไม่มีทุกข์ สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว
เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐ
พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
เสด็จประพาสแผ่นดินอันไพศาล
มีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขตนี้ ฉันใด
สาวกทั้งหลายมีวิชชา ๓ ละมัจจุได้แล้ว
พากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะสงคราม
ทรงนำหมู่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ก็ฉันนั้น
สาวกทั้งปวงล้วนเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค
ในสาวกนี้ไม่มีความว่างเปล่า(จากคุณธรรม)เลย
ข้าพระองค์พึงถวายอภิวาทพระองค์
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ซึ่งทรงทำลายลูกศรคือตัณหาได้แล้ว C
ปวารณาสูตรที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A คำว่า มีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญา
ชำแรกกิเลส (ดูเทียบ ขุ.ป. ๓๑/๔-๗/๔๐๔-๔๑๔)
B อุภโตภาควิมุตติ หมายถึงพ้นจากส่วนทั้ง ๒ คือ (๑) พ้นจากรูปกายด้วยอรูปาวจรสมาบัติ (๒) พ้นจาก
นามกายด้วยมรรคอันเลิศ (สํ.ส.อ. ๑/๒๑๕/๒๖๔)
C ดู ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๔๓-๑๒๔๕/๕๓๒

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!