15-112 สิ่งเล็กน้อย



พระไตรปิฎก


๑. ทหรสูตร
ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย
[๓๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้ว {๓๒๓} ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญทรงยืนยันหรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องก็
พึงกล่าวว่า ‘พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว’ เพราะว่าอาตม-
ภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว”
[๓๒๔] พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ท่านมักขลิ โคศาล ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ท่านปกุธะ
กัจจายนะ ท่านอชิตะ เกสกัมพล สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า
‘ท่านทั้งหลายยืนยันตนหรือว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ก็ไม่ยืนยัน
ว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่ม
โดยพระชาติและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ทำไมจึงกล้ายืนยันตนเล่า”
[๓๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร สิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น
ว่าเล็กน้อย
สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม
สิ่ง ๔ อย่างนี้แล ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
[๓๒๖] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติตระกูล
ผู้เป็นอภิชาติ A ผู้มียศ ว่ายังทรงพระเยาว์
เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว
เป็นกษัตริย์จอมมนุษย์ ทรงพิโรธแล้ว
จะลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์นั้น
นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม
ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษไม่ว่าจะมีวรรณะสูงและต่ำ B
งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นงูนั้น
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก
ลุกเป็นเปลว ไหม้ดำเป็นทาง ว่าเล็กน้อย
เพราะไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็กลายเป็นกองไฟใหญ่
พึงลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นไฟนั้น
อนึ่ง ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำแล้ว
เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้
ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา
บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ
ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก
เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท
ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต
เมื่อพิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้มียศ งู ไฟ
และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นประโยชน์แก่ตน
พึงประพฤติโดยชอบทีเดียว
[๓๒๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญ
ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ทหรสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ผู้เป็นอภิชาติ หมายถึงผู้เกิดในวรรณะกษัตริย์ซึ่งสูงกว่าวรรณะทั้ง ๓ (คือวรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์
และวรรณะศูทร) (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๒/๑๒๗)
B มีวรรณะสูงและต่ำ หมายถึงมีสัณฐานต่างกัน (สํ.ส.อ. ๑/๑๑๒/๑๒๗)

บาลี



ทหรสุตฺต
[๓๒๒] เอวมฺเม สุต เอก สมย ภควา สาวตฺถิย วิหรติ
เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯ อถ โข ราชา ปเสนทิโกสโล
เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ อุปสงฺกมิตฺวา ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ
สมฺโมทนีย กถ สาราณีย วีติสาเรตฺวา เอกมนฺต นิสีทิ ฯ
[๓๒๓] เอกมนฺต นิสินฺโน โข ราชา ปเสนทิโกสโล ภควนฺต
เอตทโวจ ภวปิ โน โคตโม อนุตฺตร สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ
ปฏิชานาตีติ ๑ ฯ ย หิ ต มหาราช สมฺมา วทมาโน วเทยฺย
อนุตฺตร สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ มมนฺต ๒ สมฺมา วทมาโน
วเทยฺย อห หิ มหาราช อนุตฺตร สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ ฯ
[๓๒๔] เยปิ เต โภ โคตม สมณพฺราหฺมณา สงฺฆิโน คณิโน
คณาจริยา าตา ยสสฺสิโน ติตฺถกรา สาธุสมฺมตา พหุชนสฺส
เสยฺยถีท ปูรโณ กสฺสโป มกฺขลิ โคสาโล นิคนฺโถ นาฏปุตฺโต
สฺชโย เวลฏฺปุตฺโต ปกุโธ ๓ กจฺจายโน อชิโต เกสกมฺพโล ๔ เตปิ
มยา อนุตฺตร สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ ปฏิชานาถาติ ปุฏฺาฝ
สมานา น อนุตฺตร สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธติ ปฏิชานนฺติ
กึ ปน ภว โคตโม ทหโร เจว ชาติยา นโว จ ปพฺพชฺชายาติ ฯ
[๓๒๕] จตฺตาโร โขเม มหาราช ทหราติ น อุฺาตพฺพา
ทหราติ น ปริโภตพฺพา กตเม จตฺตาโร ขตฺติโย โข มหาราช
ทหโรติ น อุฺาตพฺโพ ทหโรติ น ปริโภตพฺโพ อุรโค โข
มหาราช ทหโรติ น อุฺาตพฺโพ ทหโรติ น ปริโภตพฺโพ อคฺคิ
โข มหาราช ทหโรติ น อุฺาตพฺโพ ทหโรติ น ปริโภตพฺโพ
ภิกฺขุ โข มหาราช ทหโรติ น อุฺาตพฺโพ ทหโรติ น
ปริโภตพฺโพ อิเม โข มหาราช จตฺตาโร ทหราติ น อุฺาตพฺพา
ทหราติ น ปริโภตพฺพาติ ฯ
[๓๒๖] อิทมโวจ ภควา อิท วตฺวาน สุคโต อถาปร
เอตทโวจ สตฺถา
ขตฺติย ชาติสมฺปนฺน อภิชาต ยสสฺสิน
ทหโรติ นาวชาเนยฺย น น ปริภเว นโร
านมฺหิ โส มนุสฺสินฺโท รชฺช ลทฺธาน ขตฺติโย
โส กุทฺโธ ราชทณฺเฑน ตสฺมึ ปกฺกมเต ภุส
ตสฺมา ต ปริวชฺเชยฺย รกฺข ชีวิตมตฺตโน
คาเม วา ยทิ วารฺเ ยตฺถ ปสฺเส ภุชงฺคม
ทหโรติ นาวชาเนยฺย น น ปริภเว นโร
อุจฺจาวเจหิ วณฺเณหิ อุรโค จรติ เตชสี
โส อาสชฺช ฑเส พาล นร นาริฺจ เอกทา
ตสฺมา ต ปริวชฺเชยฺย รกฺข ชีวิตมตฺตโน
ปหูตภกฺข ชาลิน ปาวก กณฺหวตฺตนึ
ทหโรติ นาวชาเนยฺย น น ปริภเว นโร
ลทฺธา หิ โส อุปาทาน มหา หุตฺวาน ปาวโก
โส อาสชฺช ฑเห พาล นร นาริฺจ เอกทา
ตสฺมา ต ปริวชฺเชยฺย รกฺข ชีวิตมตฺตโน
วน ยทคฺคิ ฑหติ ปาวโก กณฺหวตฺตนี
ชายนฺติ ตตฺถ ปาโรหา อโหรตฺตานมจฺจเย
ยฺจ โข สีลสมฺปนฺโน ภิกฺขุ ฑหติ เตชสา
น ตสฺส ปุตฺตา ปสโว ทายาทา วินฺทเร ธน
อนปจฺจา อทายาทา ตาลวตฺถุ ภวนฺติ เต
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺส ภยมตฺตโน ๕
ภุชงฺคม ปาวกฺจ ขตฺติยฺจ ยสสฺสิน
ภิกฺขุฺจ สีลสมฺปนฺน สมฺมเทว สมาจเรติ ฯ
[๓๒๗] เอว วุตฺเต ราชา ปเสนทิโกสโล ภควนฺต เอตทโวจ
อภิกฺกนฺต ภนฺเต อภิกฺกนฺต ภนฺเต เสยฺยถาปิ ภนฺเต นิกฺกุชฺชิต
วา อุกฺกุชฺเชยฺย ปฏิจฺฉนฺน วา วิวเรยฺย มูฬฺหสฺส วา มคฺค
อาจิกฺเขยฺย อนฺธกาเร วา เตลปชฺโชต ธาเรยฺย จกฺขุมนฺโต รูปานิ
ทกฺขนฺตีติ เอวเมว ภควตา อเนกปริยาเยน ธมฺโม ปกาสิโต
เอสาห ภนฺเต ภควนฺต สรณ คจฺฉามิ ธมฺมฺจ ภิกฺขุสงฺฆฺจ
อุปาสก ม [๖ ภควา ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปต สรณงฺคตนฺติ ฯ

******************

๑ สี. อิติ ปฏิชานาตีติ ปาทฺวย น ปฺายติ ฯ ๒ ม. มเมว ต ฯ
๓ สี. ยุ. กกุโธ ฯ ๔ สี. เกสกมฺพลี ฯ
๕ อตฺถมตฺตโนติปิ ปาเน ภวิตพฺพ ฯ
๖ ม. ยุ. เอตฺถนฺตเร ภนฺเตติ อตฺถิ ฯ

อรรถกถา


อรรถกถาทหรสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทหรสูตรที่ ๑ ต่อไป:-
บทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ ความว่า แม้พระเจ้าปเสนทิโกศล
ก็ทรงมีความยินดีร่วมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการอย่างเดียวกับพระผู้มี
พระภาคเจ้าตรัสถามถึงขันธปัญจกพอทนได้เป็นต้น ยินดีกับท้าวเธอ คือทรง
นำความยินดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนน้ำเย็นกับน้ำร้อน ฉะนั้น อนึ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี [บันเทิง] ด้วยถ้อยคำอันใดเป็นต้นว่า ท่าน
พระโคดม พอทนหรือ พอเป็นไปได้หรือ ท่านพระโคดมและเหล่าสาวกของ
พระโคดมมีอาพาธน้อย มีโรคน้อย คล่องแคล่ว มีเรี่ยวแรง อยู่เป็นสุขอยู่
หรือ ทรงนำถ้อยคำนั้น ที่น่ายินดี น่าให้ระลึกถึงกันล่วงไป ให้ถึงที่สุด คือ
จบลงด้วยปริยายเป็นอันมากอย่างนี้ คือ ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะให้เกิดความ
ยินดีกล่าวคือ ปีติปราโมทย์ และควรที่จะยินดี ชื่อว่า สาราณียะ เพราะมี
อรรถพยัญชนะไพเราะ และเพราะเป็นถ้อยคำที่ควรระลึก โดยควรที่จะให้
ระลึกถึงตลอดกาลนาน ๆ คือเป็นไปเป็นนิตย์ ไม่ทรงทราบความลึก หรือความ
ตื้น โดยคุณและโทษ เพราะไม่เคยพบพระตถาคต จึงประทับนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อประทับนั่งแล้ว ก็ตรัสว่า ภวํปิ โน เป็นต้นเพื่อจะทูลถาม
ปัญหาเรื่องการสลัดออกจากโลกและการลงสู่ภพคือ ความเป็นพระสัมมาสัม-
พุทธะของศาสดา ที่ท้าวเธอเสด็จมาทำเป็นโอวัฏฏิกสารปัญหา คือปัญหาที่มี
สาระวกวน. ศัพท์ว่า ภวมฺปิ ในคำทูลถามนั้น เป็นนิบาตลงในอรรถว่า
ประมวล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประมวลศาสดาทั้ง ๖ ด้วยศัพท์นั้น. อธิบาย
ว่า ท่านพระโคดมก็ปฏิญาณ เหมือนศาสดาทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปเป็นต้น ที่
ปฏิญญาว่าเราเป็นสัมมาสัมพุทธะหรือ แต่พระราชามิได้ทูลถามปัญหานี้ โดย
ลัทธิของพระองค์เอง ตรัสถามโดยอำนาจปฏิญญาที่มหาชนในโลกถือกัน. ครั้ง
นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงบันลือพุทธสีหนาท จึงตรัสว่า ยํ หิ ตํ
มหาราช ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ หิ มหาราช ความ
ว่า เราตถาคตตรัสรู้ยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิกล่าวคือพระสัพพัญญุตญาณ อันยอด
เยี่ยม ประเสริฐสุดแห่งญาณทั้งหมด. บทว่า สมณพฺราหฺมณา ได้แก่ชื่อว่า
สมณะ เพราะเข้าบวช ชื่อว่าพราหมณ์ โดยกำเนิด. ในบทว่า สงฺฆิโน เป็น
ต้น ที่ชื่อว่า สังฆี เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น มีสงฆ์กล่าวคือชุมนุมนัก
บวช. ที่ชื่อว่า คณี ก็เพราะสมณพราหมณ์ มีคณะนั้นนั่นแหละ ที่ชื่อว่า
คณาจารย์ ก็เพราะเป็นอาจารย์ของคณะนั้น โดยให้ศึกษาอาจาระ. บทว่า
าตา แปลว่าที่เขารู้จักกันทั่ว คือปรากฏแล้ว. ที่ชื่อว่า ยสฺสฺสิ [มียศ]
ก็เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น มียศ [เกียรติยศ] ฟุ้งขจรอย่างนี้ว่า ท่าน
เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่นุ่งแม้แต่ผ้า เพราะเป็นผู้มักน้อย. บทว่า ติตฺถกรา
แปลว่าเจ้าลัทธิ. บทว่า สาธุสมฺมตา ได้แก่ที่เขาสมมติอย่างนี้ว่าเป็นคนสงบ
เป็นคนดี. บทว่า พหุชนสฺส ได้แก่ปุถุชนคนอันธพาล ผู้มิได้สดับฟัง
[ศึกษา]. คำว่า ปูรณะ เป็นต้น เป็นชื่อตัวและโคตร [สกุล] ของเจ้าลัทธิ
เหล่านั้น. จริงอยู่ คำว่าปูรณะเป็นชื่อตัวเท่านั้น. คำว่า มักขลิ ก็เหมือน
กัน. ก็มักขลินั้น เรียกกันว่า โคสาล ก็เพราะเกิดในโรง [คอก] โค.
บทว่า นาฏปุตฺโต แปลว่า บุตรของนักรำ. บทว่า เวลฏฺปุตฺโต แปล
ว่า บุตรของช่างสานเสื่อลำแพน. บทว่า กจฺจายโน เป็นโคตร [สกุล]
ของเดียรถีย์ชื่อ ปกุทธะ. เรียกกันว่า อชิต เกสกัมพล ก็เพราะครองผ้า
กัมพลทำด้วยผมคน.
บทว่า เตปิ มยา ความว่า หลาหล* มี ๓ คือ กัปปหลาหล
พุทธหลาหล จักกวัตติหลาหล. บรรดาหลาหลทั้ง ๓ นั้น หลาหลที่ว่า กัป
จักปรากฏที่สุดแสนปี ชื่อว่า กัปปหลาหล. เหล่าเทวดาเที่ยวป่าวร้องในถิ่น
มนุษย์ว่า ในที่สุดแสนปีแต่นี้ไป โลกจักพินาศ ผู้นิรทุกข์ทั้งหลายจงเจริญเมตตา
กรุณา มุทิตา อุเบกขากันเถิด. ส่วนหลาหลที่ว่า พระพุทธเจ้าจักอุบัติ
ในที่สุดพันปี ชื่อว่า พุทธหลาหล. เหล่าเทวดาป่าวร้องว่า ในที่สุดพันปีแต่นี้
ไป พระพุทธเจ้าจักเสด็จอุบัติขึ้น อันพระสังฆรัตนะผู้ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรมแวดล้อมแล้ว จักเสด็จจาริกแสดงธรรมโปรด. ส่วนหลาหลที่ว่า ใน
ที่สุดร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิจักอุบัติ ชื่อว่า จักกวัตติหลาหล. เหล่าเทวดา
ป่าวร้องว่า ในที่สุดร้อยปีแต่นี้ไป พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ
๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ มีพระราชโอรสกว่าพันองค์เป็นบริวาร
เสด็จไปทางอากาศได้ [เหาะได้] จักทรงอุบัติ ดังนี้. ก็ในหลาหลทั้ง ๓ นี้
ศาสดาทั้ง ๖ เหล่านี้ ได้ยินเรื่องพุทธหลาหล ก็เข้าไปหาอาจารย์เล่าเรียนวิชา
ว่าด้วยแก้วสารพัดนึกเป็นต้น แล้วก็ปฏิญญาว่า เราเป็นพุทธะ มหาชน
ห้อมล้อมจาริกไปตลอดชนบท มาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ. เหล่าอุปัฏฐากคน
บำรุง ของศาสดาเหล่านั้น ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบบังคมทูลว่า ข้าแต่
พระมหาราชเจ้า ได้ยินว่า ท่านปูรณกัสสป ฯลฯ อชิตเกสกัมพล เป็นพุทธะ
เป็นสัพพัญญู.
พระราชาตรัสสั่งว่า พวกท่านจงนิมนต์ศาสดาเหล่านั้นเข้ามา ศาสดา
ทั้ง ๖ นั้น อันอุปัฏฐากเหล่านั้นบอกว่า พระราชานิมนต์พวกท่าน โปรดไป
รับอาหารในพระราชวังเถิด ดังนี้ ก็ไม่กล้าไป เมื่อถูกรบเร้าบ่อย ๆ เข้า ก็รับ
เพื่อต้องการรักษาน้ำใจของเหล่าอุปัฏฐาก ก็ไปพร้อมกันทั้งหมด พระราชา
โปรดให้จัดปูอาสนะ รับสั่งให้นั่ง. พระราชอำนาจแผ่สร้านไปทั่วตัวเหล่า
นิครนถ์. นิครนถ์เหล่านั้น ไม่อาจนั่งเหนืออาสนะที่สมควรอย่างใหญ่ได้ ก็
นั่งบนแผ่นกระดานและพื้นดิน. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้นี่แล พระราชาก็ตรัสว่า
ธรรมอันสะอาดภายในของนิครนถ์เหล่านั้นไม่มี จึงไม่พระราชทานอาหาร
ตรัสถามว่า พวกท่านเป็นพุทธะ หรือไม่ใช่พุทธะ ประหนึ่งทรงเอาค้อนตี
ผลตาลหล่นจากต้นตาล ฉะนั้น นิครนถ์เหล่านั้นคิดว่า ถ้าทูลว่า เราเป็นพุทธะ
พระราชาตรัสถามในพุทธวิสัย เราก็ไม่อาจทูลตอบได้ ท้าวเธอก็จะตรัสว่า
พวกท่านเที่ยวลวงมหาชนว่าเราเป็นพุทธะ ก็จะพึงโปรดให้ตัดลิ้นเสีย พึงทำ
ความพินาศแม้อย่างอื่น ดังนี้แล้ว จึงกล่าวปฏิญญาของตนอย่างเดียวว่า ข้าพเจ้า
ไม่ได้เป็นพุทธะ ดังนั้น พระราชาจึงให้ลากตัวนิครนถ์เหล่านั้น ไปเสียจาก
พระราชวัง. พวกนิครนถ์เหล่านั้น ออกจากพระราชวังแล้ว เหล่าอุปัฏฐาก
ก็พากันถามว่า ท่านอาจารย์ พระราชาตรัสถามปัญหาแล้ว ได้ทรงกระทำ
สักการะและสัมมานะอะไร. เหล่านิครนถ์กล่าวว่า พระราชาตรัสถามว่า พวก
ท่านเป็นพุทธะ หรือไม่ใช่พุทธะ ต่อนั้น พวกเราคิดว่า ถ้าพระราชาพระองค์นี้
ไม่ทรงทราบปัญหาที่ตรัสถามในพุทธวิสัย ก็จักขัดพระทัยในพวกเรา จักทรง
ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก เพราะความเอ็นดูพระราชา พวกเราจึงไม่
ทูลว่า พวกเราเป็นพุทธะ แต่ความจริงพวกเราก็เป็นพุทธะนั่นแหละ ความ
เป็นพุทธะของพวกเรา ใคร ๆ ก็ไม่อาจเอาน้ำล้างออกไปได้ ดังนั้น พวกเรา
จึงเป็นพุทธะภายนอก. พวกนิครนถ์ไม่ทูลในสำนักของพระราชาว่า พวกเรา
เป็นพุทธะ พระราชาทรงถือเอาข้อนี้ จึงตรัสอย่างนี้. ในข้อนั้น พระราชา
ทรงถือปฏิญญาของพระองค์ จึงตรัสคำนี้ว่า ท่านพระโคดม ยังหนุ่มโดยกำเนิด
และยังใหม่ โดยการบวช ทำไมจึงทรงปฏิญาณว่า ตรัสรู้ยิ่งพระอนุตตระ
สัมมาสัมโพธิเล่า. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ เป็นคำปฏิเสธ. นิครนถ์
เหล่านั้น โดยกำเนิดก็เป็นคนแก่ และบวชมานาน ยังไม่ปฏิญาณว่าเราเป็น
พุทธะ ท่านพระโคดม โดยกำเนิดก็ยังหนุ่ม และโดยบรรพชาก็ยังใหม่ ทำไม
จึงปฏิญญาณ อธิบายว่า ก็อย่าปฏิญาณสิ. บทว่า น อุญฺาตพฺพา ได้แก่
ไม่พึงดูหมิ่น. บทว่า น ปริโภตพฺพา ได้แก่ ไม่พึงดูแคลน. บทว่า
กตเม จตฺตาโร เป็น กเถตุกมฺยตสปุจฉา ถามเองตอบเอง. บทว่า
ขตฺติโย ได้แก่ พระราชกุมาร. บทว่า อุรโค แปลว่า งูพิษ บทว่า
อคฺคิ ก็แปลว่า ไฟนั่นแหละ. ก็ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงแสดงถึงบรรพชิตผู้มีศีล ยกพระองค์เป็นภายใน [ตัวอย่าง] เพราะทรง
ฉลาดในเทศนาวิธี. ในสภาวะ ๔ อย่างนั้น บุคคลพบพระราชกุมารหนุ่ม
ทรงดำเนินสวนทาง ไม่ถวายทาง ไม่ลดผ้าห่ม ไม่ลุกจากที่นั่งที่นั่งอยู่ ไม่ลง
จากหลังช้างเป็นต้น กระทำความประพฤติที่ไม่สมควรเห็นปานนั้นแม้อย่างอื่น
โดยดูหมิ่นว่าอยู่ในที่ต่ำ ชื่อว่า ดูหมิ่นกษัตริย์. เมื่อกล่าวว่า พระราชกุมาร
ผู้น่ารักพระองค์นี้ พระปรางยุ้ยอุทรพลุ้ย จักทรงสามารถระงับโจรผู้ร้าย ทรง
ปกครองราชกิจในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน.
เอาลูกงูพิษแม้ขนาดเท่าไม้ป้ายยาตามาประดับหูเป็นต้น ให้มันกัดนิ้วมือก็ดี
ลิ้นก็ดี ชื่อว่า ดูหมิ่นงู. เมื่อกล่าวคำว่า งูพิษตัวนี้น่าเอ็นดูหนอ เหมือนงูน้ำ
จักสามารถกัดอะไร ๆ ได้หรือ จักสามารถแผ่พิษไปในร่างกายของใคร ๆ ได้
หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลนงู. จับไฟแม้เท่าหิ่งห้อย เล่นด้วยมือ
เหวี่ยงไปที่หม้อสิ่งของ เหวี่ยงไปที่มวยผมก็ดี ที่หลังที่นอนผ้ากระสอบเป็นต้น
ก็ดี ชื่อว่า ดูหมิ่นไฟ. กล่าวว่า ไฟนี้น่าเอ็นดูหนอ จักหุงต้มข้าวต้มข้าวสวย
อะไรได้บ้างหนอ จักปิ้งปลาและเนื้ออะไรได้บ้าง จักบรรเทาความหนาวของ
ใครได้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน. อนึ่ง บุคคลพบภิกษุหนุ่มและสามเณร
เดินสวนทางแล้วไม่ถวายทาง กระทำความประพฤติที่ไม่สมควร ซึ่งกล่าวไว้
แล้วในเรื่องพระราชกุมาร ชื่อว่า ดูหมิ่นภิกษุ. กล่าวว่า สามเณรรูปนี้น่า-
เอ็นดูหนอ แก้มยุ้ย ท้องพลุ้ย จักสามารถเรียนพระพุทธวจนะอย่างใดอย่าง
หนึ่งได้ จักสามารถยึดป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ได้ จักเป็นที่น่าพอใจในเวลาเป็น
พระสังฆเถระได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน. พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อทรงแสดงว่า ข้อนั้นแม้ทุกข้อไม่ควรทำ จึงตรัสว่า ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลน. บทว่า เอตทโวจ ความว่า ได้ตรัสคำที่ผูกเป็นคาถานี้ ก็ชื่อว่า
คาถาเหล่านี้ ย่อมแสดงความข้อนั้นบ้าง แสดงความที่แปลกออกไปบ้าง.
บรรดาคาถาเหล่านั้น คาถาเหล่านี้ ย่อมแสดงทั้งความข้อนั้น ทั้งความแปลก
ออกไปทีเดียว. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนวาเสฏฐะและ
ภารทวาชะ ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งที่ดินทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงเกิดอักขระที่
๒ ขึ้นว่า กษัตริย์ ๆ ดังนี้. บทว่า ชาติสมฺปนฺนํ ได้แก่ สนบูรณ์ด้วยชาติ
โดยชาติกษัตริย์ โดยชาติกษัตริย์นั้นแล. บทว่า อภิชาตํ ได้แก่ เกิดสูง
เกินตระกูลทั้ง ๓ [คือ ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล และคหปติมหาศาล].
บทว่า านํ แปลว่า มีเหตุ. บทว่า มนุสฺสินฺโท ได้แก่ เป็น
หัวหน้ามนุษย์. บทว่า ราชทณฺเฑน ได้แก่ ด้วยอาชญาที่พระราชายกขึ้น
ราชอาชญานั้น ไม่ชื่อว่า เล็กน้อย คือ ปรับไหมหมื่นหนึ่ง สองหมื่น
ทีเดียว. บทว่า ตสฺมึ ปกฺกมเต ภุสํ ได้แก่ พยายามลงโทษอย่างร้ายแรง
ในบุคคลนั้น. บทว่า รกฺขํ ชีวิตมตฺตโน ได้แก่ เมื่อรักษาชีวิตตน ก็
พึงละเว้น ไม่กระทบกระทั่งกษัตริย์นั้นเลย.
บทว่า อุจฺจาวเจหิ ได้แก่ ต่าง ๆ อย่าง. บทว่า วณฺเณหิ ได้
แก่ ด้วยทรวดทรงทั้งหลาย. จริงอยู่ งูนั้น เมื่อท่องเที่ยวด้วยเพศอย่างใดอย่าง
หนึ่ง จึงจะได้เหยื่อ งูทั้งหลายจึงเที่ยวไปด้วยเพศงูธรรมดาบ้าง งูน้ำบ้าง งู
เรือนบ้าง โดยที่สุดแม้ด้วยเพศกระแต. บทว่า อาสชฺช แปลว่า ถึง. บทว่า
พาลํ ความว่า งูถูกคนเขลาผู้ใดกระทบแล้ว ก็พึงกัดคนเขลาผู้นั้นไม่ว่า ชาย
หรือหญิง. บทว่า ปหฺตพฺภกฺขํ แปลว่ามีอาหาร [เชื้อ] มาก. ความจริง
ชื่อว่าอาหารของไฟไม่มีดอก. บทว่า ชาลินํ แปลว่า ลุกโชน. บทว่า ปาจกํ
แปลว่าไฟ. ปาฐะ ว่า ปาวกํ ก็มี. บทว่า กณฺหวตฺตนึ ความว่า ทางชื่อ
ว่าวัตตนี ทางที่ไฟไปแล้ว ย่อมดำ ๆ เพราะฉะนั้น ไฟท่านจึงเรียกว่า กัณห-
วัตตนี ทางดำ. บทว่า มหา หุตฺวา แปลว่า เป็นของใหญ่ ไฟบางครั้งก็
มีขนาดเท่าพรหมโลก. บทว่า ชายนฺติ ตตฺถ ปาโรหา ความว่า ในป่าที่
ไฟไหม้แล้วนั้น ต้นไม้ใบหญ้าย่อมเกิดขึ้น ต้นไม้ใบหญ้าเป็นต้น ท่านเรียกว่า
ปาโรหา. จริงอยู่ ต้นไม้ใบหญ้าเหล่านั้น ในที่ ๆ ไฟไหม้แล้ว ยังเหลือแม้
เพียงหัว ก็งอก เกิด เจริญได้จากหัวนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ปาโรหา.
อีกนัยหนึ่ง ต้นไม้ใบหญ้าชื่อว่า ปาโรหา เพราะอรรถว่างอกได้อีก. บทว่า
อโหรตฺตานมฺจฺจเย แปลว่าในกาลล่วงไปแห่งวันและคืนทั้งหลาย. แม้เมื่อ
ฝนแล้ง พอฝนตก ต้นไม้ใบหญ้าก็เกิด.
ในบทว่า ภิกฺขุ ฑหติ เตปสา นี้ ขึ้นชื่อว่าภิกษุ ด่าตอบภิกษุผู้
ด่า ทะเลาะตอบผู้ทะเลาะ ประหารตอบผู้ประหาร ย่อมไม่สามารถเอาเดชเผา
ภิกษุไรๆ ได้. ส่วนภิกษุรูปใด ไม่ด่าตอบผู้ด่า ไม่ทะเลาะตอบผู้ทะเลาะ ไม่
ประหารตอบผู้ประหาร ไม่ผิดในภิกษุนั้น ด้วยเดชแห่งศีลของภิกษุนั้น ย่อม
เผาภิกษุนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า น ตสฺส ปุตฺตา
ปสโว ดังนี้ อธิบายว่า ทั้งบุตรธิดาของผู้นั้น ทั้งโคกระบือไก่สุกรเป็นต้น
ก็ไม่มี พินาศหมด. บทว่า ทายาทา วินฺทเร ธนํ ความว่า แม้ทายาทของผู้
นั้น ก็ไม่ได้ทรัพย์. บทว่า ตาลวตฺถุ ภวนฺติ เต ความว่า ชนเหล่านั้น
ถูกเดชภิกษุเผาแล้ว ก็เป็นเหมือนต้นตาลขาดยอด คงเหลือเพียงลำต้น คือ ย่อม
ไม่เจริญด้วยบุตรธิดาเป็นต้น.
บทว่า ตสฺมา แปลว่า ก็เพราะชนเหล่านั้น ถูกเดชของสมณะเผาแล้ว
มีอันไม่งอกงามเป็นธรรมดา เหมือนต้นตาลขาดยอดฉะนั้น. บทว่า สมฺมเทว
สมาจเร แปลว่า พึงประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ. ถามว่า อะไร อันผู้ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบพึงทำ. ตอบว่า ก่อนอื่นเมื่อพิจารณาเห็นอานิสงส์มีตำบล
แขวงยานพาหนะเป็นต้นที่ได้มา เพราะอาศัยพระมหากษัตริย์ อานิสงส์มีผ้าเงิน
ทองเป็นต้นที่พึงได้ด้วยการให้งูนั้นเล่นกีฬา เพราะอาศัยงู อานิสงส์มีต้ม
หุงข้าวต้มข้าวสวยและบรรเทาความหนาวเป็นต้น ที่พึงได้ปรารภด้วยอำนาจ
ของไฟนั้น เพราะอาศัยไฟ อานิสงส์มีได้ฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟัง ทำเรื่องที่ฟังแล้ว
ให้แจ่มแจ้ง และการบรรลุมรรคของตนเป็นต้น ที่พึงถึงด้วยอำนาจภิกษุนั้น
เพราะอาศัยภิกษุ. พึงละโทษมีประการที่กล่าวมาแต่ก่อน เพราะอาศัยสภาวะ
ทั้ง ๔ เหล่านี้เสีย แต่ไม่พึงละโดยประการทั้งปวงด้วยคิดว่า จะมีประโยชน์
อะไรกับสิ่งเหล่านี้ อันผู้ต้องการจะเป็นใหญ่ ไม่ทำการดูหมิ่นดูแคลนดังกล่าว
แล้ว พึงทำขัตติยกุมารให้ทรงยินดีด้วยอุบาย มีตื่นก่อนนอนหลังเป็นต้น แต่
นั้นก็จักถึงความเป็นใหญ่ ด้วยประการฉะนี้. อันหมองู ไม่พึงทำความสนิท
สนมในงู ร่ายวิชามนต์งูเอาไม้สองง่าม [เท้าแพะ] ยันคอ เอารากไม้ถอน
พิษล้างเขี้ยวงูแล้วใส่ไว้ในลุ้ง ให้มันเล่นกีฬา อาศัยงูนั้นก็จักได้อาหารและผ้า
เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ อันผู้ประสงค์จะต้มข้าวเป็นต้น. ไม่ใส่ไฟลงใน
หม้อใส่ของ ไม่จับต้องด้วยมือ ก่อไฟด้วยโคมัย [ขี้ไต้] ละเอียดเป็นต้น
พึงต้มข้าวต้มเป็นต้น อาศัยไฟนั้น ก็จักได้รับผลดีด้วยประการฉะนี้. อันผู้
ประสงค์จะฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟังเป็นต้น คุ้นเคยสนิทกับภิกษุ ไม่ใช้ท่านให้ทำ
ตัวเป็นหมอ รับใช้ก่อสร้างเป็นต้น พึงบำรุงด้วยปัจจัย ๘ โดยเคารพ อาศัย
ภิกษุนั้น ก็จักได้พระพุทธพจน์ที่ไม่เคยฟัง ด้วยประการฉะนี้. บุคคลถึงการ
วินิจฉัยปัญหาที่ไม่เคยฟัง ประโยชน์ในปัจจุบันและภายหน้า กุลสมบัติ ๓
กามาวจรสวรรค์ ๖ พรหมโลก ๙ แล้วจักได้การเห็นอมตมหานิพพาน พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงหมายถึงประโยชน์ดังกล่าวมานี้ จึงตรัสว่า สมฺมเทว สมาจเร
ดังนี้.
บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงฟังพระธรรม
เทศนาแล้วทรงเลื่อมใส จะทรงทำความเสื่อมใสให้ชัดเจนแล้ว จึงตรัสคำว่า
อภิกฺกนฺตํ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิกฺกนฺตํ แปลว่า น่า
ใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจอย่างยิ่ง อธิบายว่า ดีเหลือเกิน. พระเจ้าปเสน-
ทิโกศล ทรงชมเทศนาด้วยอภิกกันตศัพท์ ๆ หนึ่ง ในคำว่า อภิกฺกนฺตํ เป็น
ต้นนั้นว่า พระเจ้าข้า พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าน่าฟังจริง ๆ ทรง
ชมความเสื่อมใสของพระองค์ ด้วยอภิกกันตศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่า พระเจ้าข้า
น่าชื่นใจจริง ๆ ที่ข้าพระองค์อาศัยพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
จึงเลื่อมใส.
ต่อจากนั้น ก็ทรงชมพระธรรมเทศนาด้วยอุปมา ๔ ข้อ. บรรดาบท
เหล่านั้น บทว่า นิกฺกุชฺชิตํ แปลว่าของที่วางคร่ำหน้าหรือเอาหน้าไว้ล่าง.
บทว่า อุกฺกุชฺเชยฺย แปลว่าพึงทำหน้าไว้ข้างบน [หงาย]. บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ
แปลว่าของที่ปิดไว้ด้วยหญ้าเป็นต้น. บทว่า วิวเรยฺย แปลว่า พึงเพิก [เปิด].
บทว่า มุฬฺหสฺส แปลว่า คนหลงทิศ [ทาง]. บทว่า มคฺคํ อาจิกฺเขยฺย
ได้แก่จับมือบอกว่า นั่นทาง. บทว่า อนฺธกาเร ได้แก่ในความมืด ๔ อย่าง
คือ แรม ๑๔ ค่ำ, เที่ยงคืน, ป่าทึบและแผ่นเมฆ ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า พระ
ผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงยกข้าพระองค์ ซึ่งตกไปในอสัทธรรมหันหน้าหนีจาก
สัทธรรม ไว้ในสัทธรรม เหมือนใคร ๆ หงายของที่คว่ำ ทรงเปิดพระศาสนา
ที่การถือมิจฉาทิฏฐิปิดไว้ ตั้งแต่พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า
กัสสปอันตรธานไป เหมือนทรงเปิดของที่ปิดทรงกระทำทางสวรรค์และนิพพาน
ให้ชัดแจ้งแก่ข้าพระองค์ ผู้ดำเนินทางชั่วทางผิด เหมือนทรงบอกทางแก่ผู้หลง
ทาง ทรงชูดวงประทีปคือพระธรรมเทศนาที่กำจัดความมืด คือโมหะอันปิด
พระศาสนานั้น แก่ข้าพระองค์ผู้จมลงในความมืด คือโมหะ ผู้ไม่เห็นรูปคือ
พระรัตนะมีพระพุทธรัตนะเป็นต้น เหมือนทรงส่องประทีปน้ำมัน ในความมืด
ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยปริยายเป็นอันมาก เพราะทรงประกาศ
ด้วยปริยายเหล่านั้น.
พระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นทรงชมพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้วมีพระ-
ทัยเลื่อมใสในพระรัตนตรัยด้วยเทศนานี้ เมื่อทรงทำอาการของผู้เลื่อมใส จึง
ตรัสว่า เอสาหํ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอสาหํ แยก
สนธิว่า เอโส อหํ แปลว่า ข้าพระองค์นั้น. บทว่า ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมญฺจ ภิกฺขุสงฺฆญฺจ แปลว่า ขอถึงพระรัตนตรัยนี้ คือ พระผู้มีพระ
ภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ. บทว่า อุปาสกํ มํ ภนฺเต ภควา
ธาเรตุ ความว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงจำ รับรู้ข้าพระองค์อย่าง
นี้ว่า ผู้นี้เป็นอุบาสก. บทว่า อชฺชตคฺเค แปลว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
อีกอย่างหนึ่ง. ปาฐะว่า อชฺชทคฺเค ดังนี้ก็มี. ทอักษร ทำสนธิบท. ความ
ว่า ตั้งต้นแต่วันนี้ไป. บทว่า ปาณุเปตํ แปลว่า เข้าถึงด้วยปราณคือชีวิต.
สังเขปความในข้อนี้อย่างนี้ว่า ชีวิตของข้าพระองค์ยังดำเนินไปเพียงใด ขอ
พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ทำแต่สิ่งที่สมควร
ผู้ถึงสรณะด้วยสรณคมน์ ๓ ไม่นับถือศาสดาอื่น เข้าถึงด้วยชีวิตเพียงนั้น. ส่วน
ความพิสดาร กล่าวไว้แล้วทุกอาการในสามัญญผลสูตร ในอรรถกถาทีฆนิกาย
ชื่อสุมังคลวิลาสินีแล.
จบอรรถกถาทหรสูตรที่ ๑

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!