12-194 แก่นแห่งพรหมจรรย์



พระไตรปิฎก


แก่นแห่งพรหมจรรย์
{๓๕๑} [๓๑๑] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำ
อย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่ง
สมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท
ย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
อสมยวิโมกข์ A ให้สำเร็จ เป็นไปไม่ได้เลย B ที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด
กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความ
ทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้
เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท
เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึง
ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว
และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น
เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้
สำเร็จ เพราะญาณทัสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
{๓๕๒} ภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์(ผลที่มุ่งหมาย) มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่
มีความสมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์
นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาสาโรปมสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A อสมยวิโมกข์ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ และนิพพาน ๑ (ม.มู.อ.๒/๓๑๑/๑๓๙) และดู ขุ.ป. ๓๑/๔๗๘/๓๖๑
B เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ(เหตุ) และปฏิเสธโอกาส(ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ.๑/๒๖๘/๔๐๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.