27-508 บัณฑิต 5 คน



พระไตรปิฎก


๑๒. ปัญจปัณฑิตชาดก
ว่าด้วยบัณฑิต ๕ คน

(พระราชาทรงรับที่จะทดลองมโหสธบัณฑิต จึงตรัสสั่งว่า)
{๒๒๒๘} [๓๑๕] ท่านบัณฑิตทั้ง ๕ มากันพร้อมแล้ว
ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ขอพวกท่านจงสดับ
เรื่องที่ควรติเตียนก็ดี เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี
ซึ่งเป็นความลับของเรา ควรเปิดเผยแก่ใครดี
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
{๒๒๒๙} [๓๑๖] ขอเดชะพระภูมิบาล ขอพระองค์ทรงเปิดเผยก่อน
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระพุทธเจ้า
ทรงอดกลั้นต่อภาระอันหนัก โปรดแถลงเนื้อความก่อน
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน นักปราชญ์ทั้ง ๕ พิจารณา
สิ่งที่พอพระทัยและสิ่งที่ถูกพระอัธยาศัยของพระองค์แล้ว
จะกราบทูลต่อภายหลัง
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถานี้ด้วยความที่พระองค์ทรงตกอยู่ในอำนาจ
กิเลสว่า)
{๒๒๓๐} [๓๑๗] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่ภรรยาผู้มีศีล ไม่นอกใจสามี
คล้อยตามอำนาจความพอใจของสามี
เป็นที่รักที่โปรดปรานของสามี
(แต่นั้น เสนกบัณฑิตยินดีแล้วเมื่อจะแสดงเหตุที่ตนทำไว้เอง จึงกราบทูลว่า)
{๒๒๓๑} [๓๑๘] บุคคลควรเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่เพื่อนผู้เป็นที่พึ่งที่พำนัก
และผู้เป็นทางดำเนินของเพื่อนผู้ตกยากทุรนทุรายได้
(ปุกกุสบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
{๒๒๓๒} [๓๑๙] บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่พี่ชายคนโต คนกลาง หรือแก่น้องชาย
ผู้มีศีลตั้งมั่น มีตนมั่นคง
(กามินทบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
{๒๒๓๓} [๓๒๐] บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่บุตรผู้ปรนนิบัติรับใช้บิดา
ผู้เป็นอนุชาตบุตรคล้อยตามบิดา มีปัญญาไม่ต่ำทราม
(เทวินทบัณฑิตถูกพระราชาตรัสถาม จึงกราบทูลว่า)
{๒๒๓๔} [๓๒๑] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย
บุคคลพึงเปิดเผยเรื่องที่ควรติเตียนก็ดี
เรื่องที่ควรสรรเสริญก็ดี ซึ่งเป็นความลับ
แก่มารดาผู้เลี้ยงดูบุตรด้วยความรักความพอใจ
(มโหสธบัณฑิตกราบทูลเหตุแห่งความลับว่า)
{๒๒๓๕} [๓๒๒] ธรรมดาความลับปกปิดไว้เท่านั้นเป็นการดี
การเปิดเผยความลับบัณฑิตไม่สรรเสริญ
เพราะเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จ นักปราชญ์พึงอดกลั้นไว้ก่อน
ความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงพูดได้ตามสบาย
(ฝ่ายพระนางอุทุมพรเทวีทูลถามถึงเหตุแห่งความโศกของพระราชาว่า)
{๒๒๓๖} [๓๒๓] ขอเดชะพระราชาผู้ประเสริฐ เพราะเหตุไร
พระองค์ทรงมีพระทัยวิปริตไป ขอเดชะพระองค์ผู้จอมมนุษย์
หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
พระองค์ทรงดำริอย่างไรหรือ จึงทรงโทมนัส
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันไม่มีความผิดเลยหรือเพคะ
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบพระนางว่า)
{๒๒๓๗} [๓๒๔] ในเพราะปัญหาว่า มโหสธบัณฑิตจะถูกฆ่า
มโหสธผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ถูกพี่สั่งฆ่า
พี่คิดถึงเรื่องนั้นจึงเสียใจ พระเทวี น้องไม่มีความผิดหรอก
(พระราชาทรงทำเหมือนไม่ทรงทราบอะไร ตรัสถามมโหสธบัณฑิตว่า)
{๒๒๓๘} [๓๒๕] เจ้าไปตั้งแต่พลบค่ำ เพิ่งจะมาเดี๋ยวนี้
เพราะได้ฟังเรื่องอะไรหรือ ใจของเจ้าจึงหวาดระแวง
เชิญเถิด เจ้าผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ใครได้เรียนอะไรให้เจ้าฟัง
เราขอฟังคำนั้น เจ้าจงเล่าเรื่องนั้นให้เราฟัง
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตทูลเตือนพระราชาว่า)
{๒๒๓๙} [๓๒๖] ในปัญหาว่า มโหสธจะถูกฆ่า
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ก็เพราะพระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับ
ได้ตรัสบอกเรื่องที่พระองค์ทรงปรึกษาแล้วแก่พระเทวีตอนกลางคืน
ความลับนั้นพระเทวีทรงเปิดเผยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของเสนกบัณฑิตก่อนว่า)
{๒๒๔๐} [๓๒๗] ท่านเสนกบัณฑิตได้ทำกรรมชั่ว
เยี่ยงอสัตบุรุษอันใดไว้ที่ป่าไม้รัง
เขาอยู่ในที่ลับแล้วได้บอกแก่เพื่อนคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านเสนกบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของปุกกุสบัณฑิตว่า)
{๒๒๔๑} [๓๒๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน โรคอันไม่คู่ควรแก่พระราชา
เกิดขึ้นแล้วแก่ปุกกุสะบุรุษของพระองค์
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่พี่น้องชายคนหนึ่ง
ความลับนั้นท่านปุกกุสบุรุษได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลความลับของกามินทบัณฑิตว่า)
{๒๒๔๒} [๓๒๙] กามินทบัณฑิตผู้นี้มีอาพาธเยี่ยงอสัตบุรุษ ถูกนรเทพเข้าสิง
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่บุตรชาย
ความลับนั้นกามินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทบัณฑิต จึง
กล่าวคาถานี้ว่า)
{๒๒๔๓} [๓๓๐] ท้าวสักกเทวราชได้ทรงประทานแก้วมณี ๘ เหลี่ยม
อันรุ่งเรืองยิ่งนักแด่พระอัยยกาของพระองค์
บัดนี้ แก้วมณีนั้นตกอยู่ในมือของเทวินทบัณฑิต
เขาอยู่ในที่ลับได้บอกแก่มารดา
ความลับนั้นท่านเทวินทบัณฑิตได้เปิดเผยแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังมา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาแล้วแสดงธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า)
{๒๒๔๔} [๓๓๑] ธรรมดาความลับปกปิดไว้เท่านั้นเป็นการดี
การเปิดเผยความลับบัณฑิตไม่สรรเสริญ
เพราะเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จ
นักปราชญ์พึงอดกลั้นไว้ก่อน
ความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงพูดได้ตามสบาย
[๓๓๒] บัณฑิตไม่พึงเปิดเผยความลับ
พึงรักษาความลับนั้นไว้เหมือนรักษาขุมทรัพย์
เพราะว่าความลับบุคคลรู้อยู่ ไม่เปิดเผยได้เป็นการดี
[๓๓๓] บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี ๑ ศัตรู ๑
คนที่ใช้อามิสล่อ ๑ คนผู้ล้วงความลับ ๑
[๓๓๔] คนผู้รู้ความลับที่ผู้อื่นไม่รู้
เพราะกลัวความลับที่ปรึกษาหารือกันไว้จะแตก
ย่อมอดกลั้นไว้ดุจบุคคลผู้เป็นทาสเขา
[๓๓๕] คนมีประมาณเท่าใดล่วงรู้ความลับที่เขาปรึกษากัน
คนมีประมาณเท่านั้นเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวของเขา
เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรเปิดเผยความลับ
[๓๓๖] ในเวลากลางวันควรพูดความลับในที่สงัด
เวลากลางคืนไม่ควรพูดดังเกินไป
เพราะเหตุว่าคนแอบฟังได้ยินความลับที่ปรึกษากันเข้า
ความลับนั้นจะถึงการแพร่งพรายโดยเร็วพลัน
ปัญจปัณฑิตชาดกที่ ๑๒ จบ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.