27-486 พญานกออกช่วยเพื่อน
พระไตรปิฎก
๓. มหาอุกกุสชาดก
ว่าด้วยพญานกออกช่วยเพื่อน
(แม่เหยี่ยวพูดกับพญาเหยี่ยวว่า)
{๑๘๙๑} [๔๔] พวกชาวชนบทพากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ
ประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของเรา
พี่พญาเหยี่ยว ขอท่านจงไปบอกมิตรสหาย
เล่าถึงความพินาศแห่งหมู่ญาติของนกทั้งหลาย
(เหยี่ยวนั้นถูกถามจึงแสดงเหตุที่ต้องมาว่า)
{๑๘๙๒} [๔๕] ข้าแต่พญานกออก A ราชปักษี
ท่านนะเป็นนกที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง
พวกนายพรานชาวชนบทประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(พญานกออกตอบเหยี่ยวว่า)
{๑๘๙๓} [๔๖] บัณฑิตทั้งหลายผู้แสวงหาความสุขอยู่
ย่อมคบมิตรสหายทั้งในกาลและมิใช่กาล
เจ้าเหยี่ยว เราจะทำตามความประสงค์ของเจ้านั้น
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(เหยี่ยวฟังดังนั้นแล้วเข้าไปหาพญานกออกพลางเชื้อเชิญว่า)
{๑๘๙๔} [๔๗] กิจอันใดเป็นกิจที่คนดีจะพึงกระทำให้คนดี
ด้วยความอนุเคราะห์กิจอันนี้ท่านก็ได้ทำแล้ว
ท่านจงถนอมตัวไว้เถิด อย่าได้เดือดร้อนไปเลย
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าก็จะได้ลูกต่อไป
(พญานกออกบันลือสีหนาทว่า)
{๑๘๙๕} [๔๘] เราเมื่อจะกระทำการรักษาป้องกันท่านนั้น
แม้ตัวจะตายก็ไม่หวาดหวั่น
เพราะเพื่อนทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องสละชีวิต
กระทำเพื่อเพื่อนทั้งหลาย
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ
(พระศาสดาทรงสรรเสริญคุณของพญานกออกนั้นว่า)
{๑๘๙๖} [๔๙] พญานกออกตัวนี้เกิดจากฟองไข่ ได้ทำกรรมที่ทำได้ยาก
เพื่อต้องการจะช่วยลูกนกทั้งหลายเกือบเที่ยงคืน
(ฝ่ายเหยี่ยวไปหาเต่าแล้วกล่าวว่า)
{๑๘๙๗} [๕๐] จริงอยู่ คนบางพวกแม้จะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้ง
จากการงานของตน ก็ยังดำรงตนอยู่ได้
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
ลูก ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านพญาเต่า
ขอท่านบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
(เต่าฟังแล้วกล่าวว่า)
{๑๘๙๘} [๕๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมทำการผูกมิตรผูกสหาย
ด้วยทรัพย์บ้าง ด้วยข้าวเปลือกบ้าง ด้วยตนบ้าง
พญาเหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(ลูกเต่านอนอยู่ไม่ไกลได้ยินบิดาพูด จึงกล่าวว่า)
{๑๘๙๙} [๕๒] คุณพ่อ ขอพ่อจงขวนขวายน้อยนั่งอยู่เฉย ๆ เถิด
ลูกจะช่วยบำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อ
ลูกจะป้องกันลูกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
บำเพ็ญประโยชน์นั้นแทนพ่อเอง
(พ่อเต่ากล่าวกับลูกว่า)
{๑๙๐๐} [๕๓] ลูกรัก จริงอยู่ การที่ลูกพึงช่วยเหลือ
บำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อนั้น
เป็นธรรมของสัตบุรุษโดยแท้
บางทีพวกนายพรานเห็นพ่อซึ่งมีร่างกายใหญ่โต
ก็จะไม่พึงเบียดเบียนลูกนกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
(เหยี่ยวไปหาราชสีห์เมื่อถูกถาม จึงกล่าวว่า)
{๑๙๐๑} [๕๔] ท่านผู้ประเสริฐกว่าเนื้อผู้กล้าหาญ
สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เดือดร้อน
เพราะภยันตรายย่อมเข้าไปหาท่านผู้ประเสริฐ
ลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านเป็นราชาของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(ราชสีห์ฟังแล้วกล่าวว่า)
{๑๙๐๒} [๕๕] เหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เรามาก็เพื่อจะฆ่าหมู่ศัตรูของท่าน
ธรรมดาวิญญูชนผู้มีความสามารถรู้อยู่
จะไม่พยายามคุ้มครองมิตรผู้เสมอด้วยตนได้อย่างไร
(แม่เหยี่ยวประกาศมิตตธรรมว่า)
{๑๙๐๓} [๕๖] เพื่อบรรลุถึงความสุข บุคคลควรคบมิตรสหายผู้มีใจดี
และบุคคลผู้เป็นเจ้านาย
เราทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกับลูก ๆ บันเทิงใจอยู่
เหมือนคนสวมเกราะป้องกันลูกศร
{๑๙๐๔} [๕๗] ลูกนกน้อย ๆ ส่งเสียงคูขันอยู่อย่างไพเราะจับใจ
ต้อนรับเราและท่านผู้กำลังคูขัน
เพราะการกระทำของมิตรสหายผู้ไม่หนีไปของตน
{๑๙๐๕} [๕๘] บัณฑิตนั้นได้มิตรสหายแล้วย่อมป้องกันลูก
ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ไว้ได้
ข้าพเจ้า ลูก ๆ และสามีของข้าพเจ้อยู่พร้อมหน้ากัน
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
[๕๙] อันบุคคลผู้มีเจ้านายและเพื่อนผู้กล้าหาญอาจจะได้รับประโยชน์
สำหรับผู้ที่มีเพื่อนพรั่งพร้อมก็จะมีเพื่อนร่วมงานเช่นนี้
เขาก็จะมีมิตร มียศ มีความรุ่งเรือง บันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ นะพี่ที่รัก
{๑๙๐๖} [๖๐] พี่เสนกะ ควรจะผูกมิตรแม้กับคนยากจน ดูเถิด
พวกเรามาพร้อมเพรียงกับหมู่ญาติได้เพราะความช่วยเหลือของมิตร
[๖๑] นกตัวใดผูกมิตรไว้กับมิตรผู้กล้าหาญและมิตรผู้มีกำลัง
นกตัวนั้นย่อมมีความสุขเหมือนอย่างฉันและท่าน นะพี่เสนกะ
มหาอุกกุสชาดกที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A พญานกออก หมายถึงชื่อนกเหยี่ยวขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ชอบหากินปลาในทะเล
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต