25-578 การสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระไตรปิฎก
ปารายนัตถุติคาถา A
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้
{๔๔๑} พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ตรัสตอบปัญหาแล้ว ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม
แห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชรา
และมรณะได้แน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น
ธรรมบรรยายนี้จึงชื่อว่า ปารายนะ
{๔๔๒} [๑๑๓๑]
(๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ
(๔) เมตตคู
(๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ
(๗) นันทะ
(๘) เหมกะ
[๑๑๓๒] (๙) โตเทยยะ
(๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต
(๑๒) ภัทราวุธ
(๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๑๓๓] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้เฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๑๑๓๔] พระพุทธเจ้า(อันพราหมณ์เหล่านั้น)ทูลถามปัญหาแล้ว
ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการตรัสตอบปัญหาทั้งหลาย
[๑๑๓๕] พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
[๑๑๓๖] การตรัสตอบปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่ง B ไปถึงฝั่ง C ได้
[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ
เชิงอรรถ
A ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๙-๑๕๕/๓๖-๓๗
B ที่มิใช่ฝั่ง หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๔)
C ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๓)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต