25-574 ปัญหาของอุทัยมาณพ



พระไตรปิฎก


๑๓. อุทยมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ

{๔๓๗} [๑๑๑๒] (อุทัยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์ B
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[๑๑๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง
[๑๑๑๔] เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ
ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา C
[๑๑๑๕] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[๑๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึก D เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน
[๑๑๑๗] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[๑๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ E จึงดับสนิท
อุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๐-๑๓๖/๓๐-๓๑
B อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕-๑๑๖)
และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๗๕/๒๖๖-๒๗๕ ประกอบ
C ข้อ ๑๑๑๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๓/๑๘๖,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕-๗๖/๒๗๒-๒๗๗
D ความตรึก (วิตก) มี ๙ อย่าง
(๑) กามวิตก (ความตรึกในกาม)
(๒) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
(๓) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน)
(๔) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ)
(๕) ชนปทวิตก (ความตรึกถึงชนบท)
(๖) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า)
(๗) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น)
(๘) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก
(ความตรึกที่ประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ)
(๙) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูก ดูหมิ่น)
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๘/๒๗๘-๒๗๙)
E วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๘/๔๕๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!