25-567 ปัญหาของอุปสีวมาณพ



พระไตรปิฎก


๖. อุปสีวมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ

{๔๓๐} [๑๐๗๖] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย(ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ B ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้
[๑๐๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน
[๑๐๗๘] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น C อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง D
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่
ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[๑๐๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว
ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[๑๐๘๐] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[๑๐๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๐๘๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม E ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙๔-๑๐๑/๒๐-๒๒
B ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๘/๑๗๗)
C ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๒)
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)
D สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ประการ
ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ)
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)
E ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๕/๑๙๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!