25-566 ปัญหาของโธตกมาณพ
พระไตรปิฎก
๕. โธตกมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
{๔๒๙} [๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ศึกษาธรรม B เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๑๐๗๐] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ C ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์
จากความสงสัยทั้งหลายเถิด
[๑๐๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๑๐๗๒] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่อาศัย D เที่ยวไปอยู่
[๑๐๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๗๔] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐
B ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙)
C ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๒/๑๖๓)
D ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหน ๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา
(ขุ.สุ.อ. ๒/๒๒๑/๓๐๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต