25-565 ปัญหาของเมตตคูมาณพ
พระไตรปิฎก
๔. เมตตคูมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
{๔๒๘} [๑๐๕๖] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า
ทรงเป็นผู้จบเวท B ทรงอบรมพระองค์แล้ว
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ
[๑๐๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้
ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ C เป็นต้นเหตุ
[๑๐๕๘] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด
ไม่ควรก่ออุปธิ
[๑๐๕๙] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๑๐๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรม D ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๖๑] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย
ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ E
[๑๐๖๓] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง
ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่
พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๑๐๖๔] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๖๕] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง
[๑๐๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง F
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว
[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๘๕/๑๕-๑๘
B เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ
ในมรรคทั้ง ๔ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๔)
C อุปธิ มี ๑๐ อย่าง
(๑) อุปธิคือตัณหา
(๒) อุปธิคือทิฏฐิ
(๓) อุปธิคือกิเลส
(๔) อุปธิคือกรรม
(๕) อุปธิคือ ทุจริต
(๖) อุปธิคืออาหาร
(๗) อุปธิคือปฏิฆะ
(๘) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔
(๙) อุปธิคืออายตนะภายใน ๖
(๙) อุปธิคืออายตนะภายนอก ๖
(๑๐) อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๙/๑๒๑)
D ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๖๐/๔๓๙)
E ภพ มี ๒ คือ
(๑) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร
(๒) ภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๔/๑๓๘)
F ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๕๐)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต