25-560 พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
พระไตรปิฎก
๑๖. สารีปุตตสูตร A
ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
(ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้)
{๔๒๓} [๙๖๒] พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย
[๙๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
[๙๖๔] ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
[๙๖๕] เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนไม้ หรือที่ป่าช้า
[๙๖๖] ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ(อื่น) พึงหวั่นไหวร้องไห้อยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว
[๙๖๗] ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป B
พึงปราบปรามอันตรายที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[๙๖๘] ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[๙๖๙] ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองขจัดมลทินทอง ฉะนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร)
[๙๗๐] เราจักบอกความผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณแก่เธอ ตามที่รู้
[๙๗๑] ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์ และสัตว์ ๔ เท้า
[๙๗๒] ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศลธรรม
พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
[๙๗๓] ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส
พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
[๙๗๔] ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้ยังหวาดสะดุ้ง และผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[๙๗๕] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[๙๗๖] ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา
พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบความไม่ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ
[๙๗๗] เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[๙๗๘] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่า ก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ
[๙๗๙] ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น
พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
[๙๘๐] ภิกษุถูกผู้ตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[๙๘๑] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดธุลี ๕ อย่างในโลก
คือพึงปราบปรามราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส และราคะในผัสสะ
[๙๘๒] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖ จบ
อัฏฐกวรรคที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๐-๒๑๐/๕๓๕-๖๒๐
B ทิศที่ไม่เคยไป ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๖๗/๔๑๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต