25-556 การวิวาทกันเพราะทิฏฐิ สูตรเล็ก
พระไตรปิฎก
๑๒. จูฬวิยูหสูตร A
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
{๔๑๙} [๘๘๕] สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถือยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่สำเร็จกิจ
[๘๘๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นถืออย่างนี้ แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๗] คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั้นแหละยึดถือทิฏฐิอยู่
[๘๘๘] ถ้าพวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน B
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
[๘๘๙] คน ๒ จำพวกกล่าวทิฏฐิใดต่อกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่า จริง
สมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะหตุไร สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๑] หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียว C เท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๒] เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่า เป็นคนฉลาดพูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๓] มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ
[๘๙๔] เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร และอารมณ์ที่รับรู้
แล้วแสดงอาการดูหมิ่น และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
แล้วก็ร่าเริงกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๘๙๕] เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๘๙๖] เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ D
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
[๘๙๗] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง E เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๘๙๘] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๘๙๙] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[๙๐๐] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๙๐๑] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๓-๑๒๙/๓๓๘-๓๖๑
B ข้อความนี้แปลตามบาลีที่ปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา เจว น วีวทาตา” อีกนัยหนึ่ง
มีบาลีปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา เจ ปน วีวทาตา” ดังนี้ก็มี
แปลว่า “ก็ถ้าพวกสมณพราหมณ์เป็นผู้ผ่องแผ้ว เพราะทิฏฐิของตน”
(ขุ.สุ.อ.๒/๘๘๗-๘๘๘/๓๙๖)
C สัจจะมีอย่างเดียว หมายถึงนิโรธสัจจะ หรือมัคคสัจจะ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๘๙๑/๓๙๗)
D อติสารทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ และทิฏฐิ ๖๒ นี้เอง
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทิฏฐิที่ตกลงใจ’ (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๒๔/๓๕๔)
E จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์
มี ๓ คือ (๑) ฤคเวทหรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
(๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวทหรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์
องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต