25-554 ก่อนการดับขันธปรินิพพาน



พระไตรปิฎก


๑๐. ปุราเภทสูตร A
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน

(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
{๔๑๗} [๘๕๕] บุคคลมีทัสสนะ B อย่างไร มีศีล C อย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ D แล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๕๖] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[๘๕๗] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[๘๕๘] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[๘๕๙] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่ E ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[๘๖๐] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[๘๖๑] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา
[๘๖๒] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๖๓] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ F
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[๘๖๔] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[๘๖๕] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น G
[๘๖๖] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ H ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[๘๖๗] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด I
[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๓-๙๖/๒๔๖-๒๙๖
B ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
C ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
D สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
E ตระหนี่ มี ๕ อย่าง
(๑) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่)
(๒) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล)
(๓) ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ)
(๔) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ)
(๕) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๗/๒๖๕)
F ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๓/๓๙๐)และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๑/๒๘๕)
G ดูสุตตนิบาตข้อ ๗๙๔ หน้า ๖๙๑ ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๒๒/๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ ประกอบ
H โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๖/๓๙๐)
I ความกำหนด(กัปปะ) มี ๒ อย่าง คือ
(๑) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๕/๒๙๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!