25-549 ผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
พระไตรปิฎก
๕. ปรมัฏฐกสูตร A
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
{๔๑๒} [๘๐๓] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[๘๐๔] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[๘๐๕] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร
[๘๐๖] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา
[๘๐๗] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน
ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ
[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
[๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้
แม้ธรรมทั้งหลาย B พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่ง C ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๑-๓๘/๑๒๓-๑๔๑
B ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗)
C ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต