25-544 การพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่



พระไตรปิฎก


๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่

{๓๙๐} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ
(๑) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
{๓๙๑} [๗๓๐] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๑] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
[๗๓๒] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๓] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา A
{๓๙๒} (๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปธิ B เป็นปัจจัย’ นี้เป็น
คู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอุปธิทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๔] ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
{๓๙๓} (๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอวิชชานั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๕] อวิชชานั่นแลเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ
ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น C อยู่บ่อย ๆ
[๗๓๖] อวิชชาคือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้
เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน
สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว
สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
{๓๙๔} (๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะสังขาร D เป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะสังขารทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๗] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะสังขารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๓๘] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะความสงบสังขารทั้งปวง สัญญาทั้งหลายจึงดับลง
ความสิ้นทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
เพราะรู้ความสิ้นทุกข์นี้โดยถ่องแท้แล้ว
[๗๓๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ เป็นผู้จบเวท รู้โดยชอบแล้ว
ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่เกิดอีก
{๓๙๕} (๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย E ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะวิญญาณนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เพราะวิญญาณดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๔๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว
เพราะวิญญาณระงับลง
{๓๙๖} (๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย F ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะผัสสะ
นั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๒] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ
ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์
[๗๔๓] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว
ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง
เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ
{๓๙๗} (๗) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย G ‘ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะ
เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้
ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๔] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
[๗๔๕] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว
เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้
เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
{๓๙๘} (๘) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะตัณหานั้น
เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๖] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
[๗๔๗] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่ H
{๓๙๙} (๙) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๘] ภพมีได้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
สัตว์เกิดมาแล้วต้องประสบทุกข์ ต้องตาย
นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
[๗๔๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ
รู้แจ้งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เพราะอุปาทานสิ้นไป จึงไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
{๔๐๐} (๑๐) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอารัมภะ I เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อารัมภะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
เพราะอารัมภะทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
สละคืนอารัมภะได้ทั้งหมด
น้อมจิตไปในนิพพานที่ปราศจากอารัมภะ
[๗๕๒] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ
มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
{๔๐๑} (๑๑) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย‘ J นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๓] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๔] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง
จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด
[๗๕๕] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค K โดยชอบ
พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท
ย่อมไม่เข้าถึงการนับ L อีกต่อไป
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
{๔๐๒} (๑๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอิญชิตะ M (ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็น
เนือง ๆ ว่า ‘เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้
อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๖] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะดับอิญชิตะ
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๗] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้
ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
{๔๐๓} (๑๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ
ตัณหาทิฏฐิ และมานะ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผู้ที่พ้นจาก
อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๘] ผู้พ้นจากอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน
ส่วนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาเป็นต้น ถือมั่นอยู่
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่นไปได้
[๗๕๙] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นภัยใหญ่
พ้นจากตัณหาเป็นต้นนั้นได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
{๔๐๔} (๑๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การ
พิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๐] สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เข้าถึงรูปภพและที่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
เมื่อยังไม่รู้ชัดถึงความดับกิเลส
ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก
[๗๖๑] ส่วนผู้ที่กำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมชนะมัจจุราชได้
{๔๐๕} (๑๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นามรูปที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นามรูป
นี้เป็นของจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบว่า นามรูปนี้ไม่เป็นของจริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพาน
นี้มีอยู่จริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๒] ท่านมีความเข้าใจผิดในนามรูปที่มิใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา
จงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ซึ่งพากันยึดมั่นในนามรูป โดยเข้าใจว่า
นามรูปนี้เป็นของจริง
[๗๖๓] ความจริง นามรูปนั้นย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่น
จากอาการที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่เสมอ
นามรูปของผู้เข้าใจเช่นนั้น หาเป็นจริงตามนั้นไม่
เพราะนามรูปนั้นปรากฏชั่วครู่ก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
[๗๖๔] นิพพานมีความไม่เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายรู้แจ้งตามความเป็นจริง
จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ปรินิพพานแล้ว
เพราะรู้แจ้งอริยสัจ
{๔๐๖} (๑๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นมีบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ก็ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘อิฏฐารมณ์ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า อิฏฐารมณ์นี้เป็นความสุข
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า อิฏฐารมณ์
นี้เป็นความทุกข์’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้เป็นความทุกข์ ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย
พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘นิพพานนี้เป็นความสุข’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๕] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด
[๗๖๖] รูปเป็นต้นเหล่านั้นแลเป็นสิ่งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกสมมติว่า เป็นสุข
ถ้ารูปเป็นต้นเหล่านั้นดับในที่ใด
ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์
[๗๖๗] ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่า เป็นสุข
การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้
ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง
[๗๖๘] บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข
อริยบุคคลทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์
อริยบุคคลทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข
[๗๖๙] เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก
คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้
ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์คือกิเลสหุ้มห่อไว้
(เหมือน) ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ฉะนั้น
[๗๗๐] แต่นิพพานย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่สัตบุรุษ
เหมือนแสงสว่างปรากฏแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ ฉะนั้น
ชนทั้งหลายผู้แสวงหาทาง ไม่ฉลาดในธรรม
ย่อมไม่รู้แจ้ง(นิพพาน)ที่อยู่ใกล้
[๗๗๑] บุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา)ในภพ
ถูกบ่วงมารคล้องไว้ จะไม่รู้ธรรมนี้ได้ง่าย
[๗๗๒] เว้นอริยบุคคลทั้งหลายแล้ว
ใครเล่าควรจะตรัสรู้บท N
ที่อริยบุคคลทั้งหลายตรัสรู้ชอบแล้ว
ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน O
{๔๐๗} พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้อยู่ จิตของ
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ ๑๐๓ หน้า ๔๘๑-๔๘๒ ในเล่มนี้
B อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๓/๓๓๘)
C สภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์
และความเป็นสัตว์อื่นที่เหลือจากความเป็นมนุษย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๕/๓๓๘)
D สังขาร ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร
(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๖/๓๓๘)
E วิญญาณเป็นปัจจัย หมายถึงอภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรมเป็นปัจจัย
(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๙/๓๓๙)
F ผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย
(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๑/๓๓๙)
G เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย
(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๔/๓๓๙)
H ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔ และดู อิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้
I อารัมภะ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่สัมปยุตด้วยกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๙/๓๔๐)
J อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ ๔ จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ
(๑) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ ๑๑ อย่าง
เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
(๒) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ
ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร
(๓) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ ๓ อย่าง เบื้องต่ำ
เสพมโนสัญเจตนาหาร อันเกิดแต่สัญญา
(๔) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร
อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๑/๓๔๐)
K ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)
L ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า ‘เทพ’ หรือ “มนุษย์”
เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๓๔๑)
M อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส
(ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)
N บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๖/๕๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๒/๓๔๓)
O สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๓๖/๑๗๑-๑๗๒

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!