25-538 สภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
พระไตรปิฎก
๖. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
{๓๖๔} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต A ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”
ต่อมา สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดี
เลิศเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้”
แต่แล้ว สภิยปริพาชกกลับคิดเช่นนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนเป็น
ผู้เจริญทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นพระเถระ
เป็นรัตตัญญูบุคคล บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านเหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วก็ยังไม่สามารถ
ตอบได้ เมื่อไม่สามารถตอบได้ ก็ยังแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก พระสมณโคดม
ถูกเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว จักพยากรณ์ตอบได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดม
ยังหนุ่มนัก และออกบวชก็ยังไม่นาน”
หลังจากนั้น สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “เราไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลนพระสมณโคดมว่า ยังหนุ่มนัก ความจริง แม้พระสมณโคดมจะยังหนุ่ม
แต่ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณ-
โคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้ดีกว่า”
ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาป-
สถาน เขตกรุงราชคฤห์ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
{๓๖๕} [๕๑๖] ข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัย
มุ่งหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์โปรดตรัสตอบปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามให้สิ้นสงสัย
โปรดพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๑๗] สภิยะ ท่านเดินทางมาไกล มุ่งหวังเพื่อจะถามปัญหา
เราจะกล่าวเฉลยปัญหาที่ท่านถามให้สิ้นสงสัย
เราจะพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับแก่ท่าน
[๕๑๘] สภิยะ ท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจ
ก็จงถามมาเถิด
เราจะตอบปัญหานั้น ๆ ให้หมดแก่ท่าน
{๓๖๖} ทันใดนั้น สภิยปริพาชกคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยได้
โอกาสสักหน่อยในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย แต่พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้
แก่เราแล้ว” เขาจึงดีใจ เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระ
ผู้มีพระภาคว่า
[๕๑๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ภิกษุ
บุคคลปฏิบัติอย่างไรบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว
บุคคลรู้อย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พุทธะ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๒๐] สภิยะ บุคคลใดควรแก่คำชมเชยว่า
เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ภิกษุ B
[๕๒๑] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[๕๒๒] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว C
[๕๒๓] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง ๒ ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
{๓๖๗} ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[๕๒๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ D
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๒๕] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์ E
[๕๒๖] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้
เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า
ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า สมณะ
[๕๒๗] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง F
ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป G
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้
[๕๒๘] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า นาคะ
{๓๖๘} ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๒๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกบุคคลเช่นไรว่า ผู้ชนะเขต
ตรัสเรียกบุคคลว่า ผู้ฉลาด ด้วยอาการอย่างไร
อย่างไร จึงตรัสเรียกว่า บัณฑิต
และอย่างไร ตรัสเรียกว่า มุนี
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๐] สภิยะ บุคคลพิจารณาเขต H ทั้งสิ้น
คือ เขตเทวดา เขตมนุษย์ และเขตพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต I ทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ชนะเขต
[๕๓๑] บุคคลพิจารณากระเปาะฟอง J ทั้งสิ้น
คือ กระเปาะฟองเทวดา กระเปาะฟองมนุษย์
และกระเปาะฟองพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งกระเปาะฟองทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ฉลาด
[๕๓๒] บุคคลพิจารณาอายตนะทั้ง ๒ ประการ
คือ อายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้ว
มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว K ได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต
[๕๓๓] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว
ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์
บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี L
{๓๖๙} ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม
บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร
และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๕] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท M ทั้งสิ้น
ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท N
[๕๓๖] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
และนามรูปภายในตน
และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม
[๕๓๗] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด
ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์
[๕๓๘] บุคคลตัดเครื่องผูก O อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง
ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
{๓๗๐} ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ
บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ
และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๔๐] สภิยะ บุคคลผู้สดับแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครอบงำธรรมทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษต่าง ๆ มีอยู่ในโลกได้
หมดความสงสัย มีจิตหลุดพ้น
ไม่มีความทุกข์ในธรรมทั้งปวง P
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีสุตะ
[๕๔๑] บุคคลผู้มีปัญญา ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้ว
ไม่ถือกำเนิดเกิดในครรภ์อีก
ละสัญญา ๓ อย่าง และละเปือกตมคือกามได้
ไม่กลับมาสู่กัป Q อีก
บัณฑิตเรียกว่า อริยะ
[๕๔๒] ในศาสนานี้ บุคคลผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ R
เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ
ไม่ข้องอยู่ในธรรมทั้งปวง
มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีจรณะ
[๕๔๓] บุคคลผู้กำจัดธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากซึ่งมีอยู่
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว
ประพฤติตนอยู่ด้วยปัญญาพิจารณา
และละมายา มานะ โลภะ และโกธะได้หมดสิ้น
ทำนามรูปให้สิ้นสุดลงได้
บัณฑิตเรียกว่า ปริพาชก
ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ
{๓๗๑} ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ลุกจากที่นั่ง ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๔๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
พระองค์ทรงกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ๖๐
ที่อาศัยคัมภีร์เป็นหลักการของพวกสมณะลัทธิอื่น
ซึ่งอาศัยอักษรสื่อความหมาย และสัญญาที่วิปริต
ทรงก้าวพ้นความมืดคือโอฆะได้แล้ว
[๕๔๕] พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงฝั่ง
ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ตระหนักในพระองค์ว่า มีอาสวะสิ้นแล้ว
พระองค์ทรงมีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีปัญญามาก
ได้ทรงแนะนำข้าพระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว
[๕๔๖] เพราะพระองค์ได้ทรงทราบปัญหาที่ข้าพระองค์สงสัย
ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความลังเลใจ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในแนวทางของมุนี
ไม่มีกิเลสฝังแน่นพระทัย
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง
[๕๔๗] พระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อสงสัย
ที่เคยมีมาก่อนของข้าพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ จึงนับว่าเป็นพระมุนี
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแน่แท้
[๕๔๘] อนึ่ง ความคับแค้นใจทั้งหมด
พระองค์ทรงกำจัดตัดถอนได้แล้ว
พระองค์จึงมีพระทัยเยือกเย็น
มีการอบรมตนถึงที่สุดแล้ว มีพระปัญญาทรงจำมั่นคง
มีความบากบั่นในสัจจะเป็นนิตย์
[๕๔๙] เทวดาทั้ง ๒ พวกที่อาศัยอยู่ ณ นารทบรรพตทั้งหมด
พากันชื่นชมอนุโมทนาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ยิ่งใหญ่ในหมู่คนผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่
ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
[๕๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะทรงคุณเสมอด้วยพระองค์
ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[๕๕๑] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
[๕๕๒] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน (ความถือมั่น)
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ S
[๕๕๓] พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
เหมือนดอกบัวขาวที่สวยงามไม่ติดอยู่ในน้ำ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
{๓๗๒} ลำดับนั้น สภิยปริพาชกหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้
บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สภิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มาก่อน หวังจะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แต่ในเรื่องการอยู่ปริวาสนี้
เราก็ทราบความแตกต่างของแต่ละบุคคล”
สภิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มา
ก่อน หวังจะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน
เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ
ข้าพระองค์ก็จะขออยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปี หากภิกษุทั้งหลายพอใจก็
ขอโปรดบรรพชาอุปสมบทให้ข้าพระองค์เป็นภิกษุด้วยเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกก็ได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านพระสภิยะอุปสมบทได้ไม่นาน ก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สภิยสูตรที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา
เหมือนบิดา เพราะมีอัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๔)
B ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘/๘๔
C ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๘
D ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๘๕ ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๗/๑๔๕
E ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๔๗
F โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)
G กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)
H เขต ในที่นี้หมายถึงอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๓)
I เครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต หมายถึงอวิชชา ตัณหา และภพ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๔)
J กระเปาะฟอง หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๑/๒๕๔)
K ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๒/๒๕๕)
L ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙
M เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)
N เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)
O เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๘/๒๕๗)
P ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๐/๒๕๘)
Q กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๑/๒๕๘)
R จรณะ หมายถึงความประพฤติ,ปฏิปทา ในที่นี้หมายถึงจรณะ ๑๕ คือ
(๑) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
(๒) อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์)
(๓) โภชเนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
(๔) ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น)
(๕) ศรัทธา
(๖) หิริ
(๗) โอตตัปปะ
(๘) ความเป็นพหูสูต
(๙) วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร)
(๑๐) ความมีสติมั่นคง
(๑๑) ปัญญา
(๑๒) ปฐมฌาน
(๑๓) ทุติยฌาน
(๑๔) ตติยฌาน
(๑๕) จตุตถฌาน
(ม.ม. (แปล) ๑๓/๒๓-๒๖/๒๖-๓๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๒/๒๕๙)
S ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๓๙-๘๔๐/๔๗๙
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต