25-537 มาฆมาณพทูลถามปัญหา
พระไตรปิฎก
๕. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆมาณพทูลถามปัญหา
{๓๖๑} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้พระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความ
ประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหา
ได้แล้วก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง
๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๘ คนบ้าง
๙ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง ๕๐ คนบ้าง
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ให้ทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะได้รับบุญมากไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ แน่นอนทีเดียว เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ บูชา
อย่างนี้ ย่อมได้รับบุญมาก มาณพ บุคคลผู้เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์
ของผู้ขอ ควรแก่การขอ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง ฯลฯ
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ย่อมได้รับบุญมาก”
ลำดับนั้น มาฆมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้
{๓๖๒} [๔๙๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ผู้ทรงเปรื่องปราชญ์ในถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์
ไม่ทรงยึดมั่น เสด็จเที่ยวไปอยู่ว่า
ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
การบูชาของคฤหัสถ์ผู้นั้นที่ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๔๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
คฤหัสถ์ผู้เช่นนั้น พึงยังการบูชาให้สำเร็จได้
ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
[๔๙๔] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๔๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[๔๙๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๙๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีมายา ไม่มีมานะ
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีจิตไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย
ข้ามโอฆะได้ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
[๕๐๒] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีตัณหา A เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่
ในโลกไหน ๆ คือในโลกนี้หรือโลกอื่น
[๕๐๓] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่มีความยึดถือ สำรวมตนดีแล้ว เที่ยวไป
เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น
[๕๐๔] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๕๐๕] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้สงบ ผู้ปราศจากราคะ ไม่มีความโกรธ
ผู้ไม่มีคติ เพราะละขันธ์ ๕ ในโลกนี้ได้แล้ว
[๕๐๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
ล่วงพ้นความสงสัยทุกอย่าง
[๕๐๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปในโลก
[๕๐๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้รู้แจ้งในขันธ์และอายตนะเป็นต้น
ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า
นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
[๕๐๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่ท่านผู้จบเวท ยินดีในฌาน
มีสติ บรรลุสัมโพธิญาณ
เป็นสรณะของเทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
[๕๑๐] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่แท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอก
พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายแก่ข้าพระองค์แล้ว
ความจริง พระองค์ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
ในโลกนี้อย่างถ่องแท้
ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว
[๕๑๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกยัญญสัมปทา B
แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี ควรแก่การขอ
ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ ให้ข้าว และน้ำ
บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๕๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ท่านเมื่อจะบูชาก็จงบูชาเถิด
และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาลทั้งปวง
ยัญย่อมเป็นอารมณ์หน่วงจิตของผู้กำลังบูชาบุคคล
ผู้มีจิตตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทษ C ได้
[๕๑๓] อนึ่ง บุคคลนั้นปราศจากราคะแล้ว ควรกำจัดโทสะ
เจริญเมตตาจิตทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก
ไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์
ชื่อว่าย่อมแผ่อัปปมัญญา D ไปทั่วทิศ
[๕๑๔] (มาฆมาณพทูลถามดังนี้)
ใคร ชื่อว่าบริสุทธิ์ หลุดพ้น และชื่อว่ายังติดอยู่
บุคคลจะไปให้ถึงพรหมโลกด้วยตนได้อย่างไร
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ไม่รู้ จึงทูลถาม
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพรหม
ข้าพระองค์เห็นโดยประจักษ์ในวันนี้
เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง
บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร
[๕๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ บุคคลผู้บูชายัญญสัมปทาครบทั้ง ๓ กาลเช่นนั้น
พึงยังการบูชาให้บริสุทธิ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
เราเรียกบุคคลผู้ควรแก่การขอ
บูชาถวายไทยธรรมอย่างนั้นว่า
เข้าถึงพรหมโลกได้แน่นอน
{๓๖๓} เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มาฆสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา ๖ อย่างคือ
(๑) รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูป)
(๒) สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง)
(๓) คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
(๔) รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส)
(๕) โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในสิ่งที่ถูกต้องกาย)
(๖) ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่เกิดกับใจ)
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๑๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๐๒/๒๓๙)
B ยัญญสัมปทา หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ ๓ กาล คือ
(๑) ก่อนให้ ก็มีใจดี
(๒) ขณะให้ก็ทำจิตให้ผ่องใส
(๓) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
C โทษ มี ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
D อัปปมัญญา ในที่นี้หมายถึงเมตตาฌาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๓/๒๔๑)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต