25-535 วาจาสุภาษิต 4 ประการ
พระไตรปิฎก
๓. สุภาสิตสูตร A
ว่าด้วยวาจาสุภาษิต ๔ ประการ
{๓๕๖} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. กล่าววาจาสุภาษิตอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาทุพภาษิต
๒. กล่าววาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม
๓. กล่าววาจาเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาไม่เป็นที่รัก
๔. กล่าววาจาสัตย์จริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ
ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๔๕๓] สัตบุรุษกล่าวว่าวาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุด (นั้นเป็นองค์ที่ ๑)
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม นั้นเป็นองค์ที่ ๒
บุคคลพึงกล่าววาจาเป็นที่รัก
ไม่พึงกล่าววาจาไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นองค์ที่ ๓
บุคคลพึงกล่าววาจาสัตย์
ไม่พึงกล่าววาจาเหลาะแหละ นั้นเป็นองค์ที่ ๔
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ยืนประนมมือไป
ทางพระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์เข้าใจพระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจ
พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “วังคีสะ เธอจงเข้าใจภาษิตของเราอย่างแจ่มแจ้งเถิด”
{๓๕๗} ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาอย่างเหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๔๕๔] บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิตแท้
[๔๕๕] บุคคลพึงกล่าวเฉพาะวาจาเป็นที่รัก เป็นที่ถูกใจผู้ฟัง
พึงเว้นคำลามกทั้งหลายเสีย กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักแก่คนอื่น
[๔๕๖] วาจาสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย นี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษล้วนดำรงมั่นอยู่ในสัจจะทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๔๕๗] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเป็นวาจาเกษม
เพื่อการบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
วาจานั้นแลเป็นวาจายอดเยี่ยมกว่าวาจาทั้งหลาย
สุภาสิตสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๑๓/๓๐๘
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต