25-523 สูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
พระไตรปิฎก
๕. สูจิโลมสูตร A
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
{๓๑๙} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนแท่นหิน ในที่อาศัยของสูจิโลมยักษ์
ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์เดินผ่านเข้ามาใกล้ ๆ พระผู้มี
พระภาค ทันใดนั้น ขรยักษ์ได้กล่าวกับสูจิโลมยักษ์ว่า “นั่น สมณะ” สูจิโลมยักษ์
กลับกล่าวว่า “นั่น ไม่ใช่สมณะจริง แต่เป็นสมณะปลอม เดี๋ยวก็รู้ว่าสมณะจริงหรือ
สมณะปลอมกันแน่”
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ น้อมกายเข้าไป
จนชิดพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงขยับพระวรกายออกไป สูจิโลมยักษ์
จึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “สมณะ ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยักษ์เอ๋ย เราไม่เคยกลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่าน
หยาบกร้านเหลือเกิน”
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
{๓๒๐} [๒๗๓] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๕] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย B
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น
[๒๗๖] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๓๗/๓๓๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๓
B ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๕/๑๑๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต