25-518 ลักษณะของมุนี
พระไตรปิฎก
๑๒. มุนิสูตร
ว่าด้วยลักษณะของมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
{๓๑๓} [๒๐๙] ภัยเกิดจากความเชยชิด A
ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ความไม่มีกิเลส ไม่มีความเชยชิด
นั้นแล เป็นลักษณะของมุนี
[๒๑๐] บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้
ไม่ปลูกกิเลสให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ไม่พึงให้ไหลเข้าอีก
ว่า เป็นมุนีผู้เที่ยวไปอยู่
พระมุนีนั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ทรงเห็นสันติบทแจ้งชัดแล้ว
[๒๑๑] ผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส B กำจัดพืช C ได้เด็ดขาด
ไม่ให้ยางพืชไหลเข้าไปได้อีก
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้มีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ละอกุศลวิตกได้ จึงไม่ถึงการนับอีกต่อไป
[๒๑๒] ผู้รู้แจ้งภพเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งหมด
ไม่ปรารถนาภพเหล่านั้นแม้สักภพเดียว
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้ปราศจากความยึดติด D ไม่มีความยึดมั่น
ย่อมไม่ก่อกรรมใด ๆ อีก เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
[๒๑๓] ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๔] ผู้มีกำลังคือปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร E
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๕] ผู้เที่ยวไปผู้เดียว มีปัญญา ไม่ประมาท
ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
ไม่สะดุ้งเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย F เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว
เป็นผู้แนะนำผู้อื่น ไม่ใช่ผู้อื่นแนะนำ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๖] ผู้ไม่ยินดียินร้ายคำสรรเสริญหรือนินทาของคนอื่น
ดุจเสาที่เขาฝังปักไว้ที่ท่าน้ำ
ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๗] ผู้ตั้งตนไว้ชอบ ซื่อตรงดุจกระสวย G
รังเกียจบาปกรรมทั้งหลาย
พิจารณาเห็นกรรมที่เสมอและไม่เสมอ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๘] ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาว หรือวัยกลางคน
สำรวมตนแล้ว ไม่ทำบาป
เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป
ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้ายใคร ๆ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๙] ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้
ได้อาหารดีเลิศ ก็ไม่กล่าวประจบยกย่องผู้ให้
ได้อาหารปานกลางหรือเลวก็ไม่ติเตียนเขาให้เสียน้ำใจ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๐] ผู้มีปัญญา เที่ยวไปอยู่ผู้เดียว
มีจิตเว้นขาดจากเมถุนธรรมคือ
ไม่ผูกจิตรักใคร่ในหญิงสาวเลยแม้สักคนเดียว
เว้นขาดจากความมัวเมา ประมาท เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๑] ผู้รู้แจ้งโลก H เห็นปรมัตถธรรม I
ข้ามโอฆะ และสมุทร J ได้
เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้เด็ดขาด
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๒] คฤหัสถ์และบรรพชิต ๒ จำพวกนี้
มีที่อยู่และการดำรงชีวิตห่างไกลกัน คือ
คฤหัสถ์ทำงานเลี้ยงบุตรภรรยา
ส่วนบรรพชิตไม่ยึดถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน มีวัตรงาม
คฤหัสถ์ไม่สำรวม เพราะเบียดเบียนสัตว์อื่น
ส่วนบรรพชิตที่ชื่อว่าเป็นมุนี สำรวมเป็นนิตย์
รักษาสัตว์มีชีวิตไว้
[๒๒๓] ภิกษุเป็นมุนี เป็นผู้สงบ เพ่งพินิจอยู่ในป่า
คฤหัสถ์จะทำตามอย่างท่านไม่ได้
เหมือนนกยูงมีสร้อยคอสีเขียว ถึงจะบินไปในอากาศได้
ก็ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น
มุนิสูตรที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ความเชยชิด หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๐๙/๒๘๗)
B ที่ตั้งแห่งกิเลส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
C พืช ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
D ความยึดติด หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๒/๒๙๐)
E ในที่นี้ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ วัตร
หมายถึงธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๔/๒๙๔)
F ข่าย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๕/๒๙๕)
G กระสวย หมายถึงเครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้าหรือเย็บผ้า
(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)
H โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
I เห็นปรมัตถธรรม หมายถึงทำให้แจ้งนิโรธสัจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
J สมุทร ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต