25-505 ผู้มีศีลสมบูรณ์



พระไตรปิฎก


๑๒. สัมปันนสีลสูตร A
ว่าด้วยผู้มีศีลสมบูรณ์

{๒๙๒} [๑๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด
เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมด้วยการ
สังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย จะมีกิจอะไรที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเล่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้กำลังเดินอยู่ ปราศจากอภิชฌา(เพ่งเล็งอยากได้
ของเขา) พยาบาท(ความคิดร้าย) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ
(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้ ปรารภความเพียร
ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่
เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังเดินอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียก
ว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังยืนปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่อง
ตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนั่ง ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนั่ง ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ
ต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่ ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจ-
กุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่
ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกาย
และใจต่อเนื่องตลอดไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุควรเดินสำรวม ยืนสำรวม นั่งสำรวม นอนสำรวม
คู้เข้าสำรวม เหยียดออกสำรวม
พิจารณาความเกิด และความดับแห่งธรรมขันธ์ B
ทั่วภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง ชั้นล่าง
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น ผู้มีความเพียร
ละกิเลสอยู่อย่างนี้ ประพฤติตนสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ C
มีสติทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมปันนสีลสูตรที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒/๒๒-๒๓
B ธรรมขันธ์ หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
(ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๒/๒๙๑)
C ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ หมายถึงผู้ปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิด
ญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อปฏิบัติสมควรแก่อริยมรรค
กล่าวคือ เจโตสมถะ เพราะสงบระงับกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!