25-500 มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
พระไตรปิฎก
๗. สพรหมกสูตร A
ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
{๒๘๖} [๑๐๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่า
มีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ บุตรของ
สกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพเทพ นี้เป็น
ชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพาจารย์ นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า อาหุไนย-
บุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา B ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มี
อุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์
และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตพึงนมัสการ
และสักการะมารดาบิดานั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การอบกลิ่น การอาบน้ำ และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้น
บัณฑิตจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สพรหมกสูตรที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๑/๑๘๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๓/๑๐๗,
ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๘๑-๑๘๓/๘๔
B มารดาบิดา ชื่อว่า พรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ
คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
ชื่อว่าบุรพเทพ เพราะเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม ไม่คำนึงความผิดที่บุตรทำไป
พร้อมที่จะให้อภัย มุ่งหวังแต่ความเจริญแก่บุตร
นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่บุตร
ชื่อว่า บุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง การยืน การเดิน
การนอน การเคี้ยว การกิน รวมทั้งสอนให้รู้จักพูดและ รู้จักอะไรควร อะไรมิควร
ชื่อว่า อาหุไนยบุคคล เพราะเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่บุตรพึงทำตอบแทน
เช่น การปรนนิบัติท่านด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่ม
(องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๑/๑๑๑-๑๑๒, ขุ.อิติ.อ. ๑๐๖/๓๗๙-๓๘๔)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต