25-438 นิพพานธาตุ



พระไตรปิฎก


๗. นิพพานธาตุสูตร
ว่าด้วยนิพพานธาตุ

{๒๒๒} [๔๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้
นิพพานธาตุ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว A บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว B หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ เพราะอินทรีย์ ๕ ที่ยังคงอยู่ ไม่ดับไป ภิกษุ
นั้นจึงประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เสวยสุขและทุกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย
ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของภิกษุนั้น เราเรียกว่า สอุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุทั้งหลาย เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้
นั่นแลของภิกษุนั้น อันตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินไม่ได้ต่อไปแล้ว จักระงับดับสนิท
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ตถาคตผู้มีพระจักษุ C ไม่ทรงอิงอาศัยสิ่งใด ๆ
ผู้คงที่ ทรงประกาศนิพพานธาตุไว้ ๒ ประการนี้ คือ
นิพพานธาตุประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีให้เห็นในอัตภาพนี้
ชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาที่นำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุอีกประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีในภายภาคหน้า
ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิง
ชนทั้งหลายผู้รู้ที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนี้แล้ว
มีจิตหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ D
ยินดียิ่งในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส เพราะบรรลุธรรมเป็นสาระ
เป็นผู้คงที่ ละภพทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิพพานธาตุสูตรที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้ (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/
๑๘๙)
B สิ้นภวสังโยชน์ หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ คร่าสัตว์มาไว้ในภพทั้งหลาย (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/๑๘๙)
C หมายถึงจักษุ ๕ ประการ คือ (๑) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๒) มังสจักษุ (ตาเนื้อ) (๓) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
(๔) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔, ขุ.อิติ.อ.
๔๔/๑๙๐)
D ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ(ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!