25-429 การไม่หลอกลวง สูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก
๘. ปฐมนกุหนสูตร A
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๑
{๒๑๓} [๓๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เพื่อ
สังวร B และเพื่อปหานะ C เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร D
ทำให้สัตว์ถึงนิพพานเพื่อสังวร เพื่อปหานะ
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมนกุหนสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕/๔๑
B สังวร (การสำรวม) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์) (๒) สติสังวร (สำรวม
ด้วยสติ) (๓) ญาณสังวร (สำรวมด้วยญาณ) (๔) ขันติสังวร (สำรวมด้วยขันติ) (๕) วิริยสังวร (สำรวม
ด้วยความเพียร) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๒๕/๓๒๓-๓๒๔)
C ปหานะ (การละ) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ตทังคปหานะ (ละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ) (๒) วิกขัมภนปหานะ
(ละกิเลสด้วยการข่มไว้) (๓) สมุจเฉทปหานะ (ละกิเลสด้วยตัดขาด) (๔) ปฏิปัสสัทธิปหานะ (ละกิเลส
ด้วยสงบระงับ) (๕) นิสสรณปหานะ (ละกิเลสด้วยสลัดออกได้) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
๒/๒๕/๓๒๔-๓๒๕)
D ความจัญไร มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอุปัททวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นัยที่ ๒
หมายถึงอุปกิเลสมีตัณหาเป็นต้น นัยที่ ๓ หมายถึงลัทธิเดียรถีย์ นัยที่ ๔ หมายถึงวิจิกิจฉา (ขุ.อิติ.อ.
๓๕/๑๒๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต