25-357 ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ



พระไตรปิฎก


๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ว่าด้วยชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ

{๑๑๒} [๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ชายคนหนึ่งชื่อสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า
ยากไร้ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นหมู่มหาชนนั้นนั่งประชุมกันแต่ที่ไกล ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ชนทั้งหลายกำลังแจกของเคี้ยวหรือของบริโภค ในที่นี้เป็นแน่ ทางที่ดีเรา
ควรเข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น พึงได้ของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้บ้าง”
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม) A
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา B ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
{๑๑๓} ครั้งนั้นแล ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม
หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย C ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ
แกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย D ในศาสนาของพระศาสดา ลุกจาก
ที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็น
รูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
เมื่อชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้ฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็ชื่นชมยินดีพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วลุกขึ้นทำประทักษิณจากไป ทันใดนั้นเอง
โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้จากไปไม่นานจนล้มลงเสียชีวิต
ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้ได้ฟังพระดำรัสที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา เขาเสียชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเขาเป็น
อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะเป็น
บัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบาก เพราะธรรม
เป็นเหตุ ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ E ในวันข้างหน้า”
{๑๑๔} เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชายชื่อ
สุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาติก่อน ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
เป็นบุตรเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาออกไปยังสวนสาธารณะ ได้เห็นพระปัจเจก-
พุทธะนามว่าตครสิขี กำลังเดินบิณฑบาตในพระนคร เขาครั้นเห็นแล้ว จึงได้มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ใครนี้ เป็นโรคเรื้อนห่มผ้าสกปรกเที่ยวไป’ แล้วถ่มน้ำลายเดินแซงไป
ทางด้านซ้าย เพราะผลแห่งกรรมนั้น เขาไหม้อยู่ในนรกหลาย ๑๐๐ หลาย ๑,๐๐๐
หลาย ๑๐๐,๐๐๐ ปี เพราะเศษแห่งวิบากกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงเกิดเป็นชาย
โรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศไว้แล้ว ยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เขาครั้นได้อาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้แล้วยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ และ
รุ่งโรจน์เหนือกว่าเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะและยศ F ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
บัณฑิตในโลกนี้ เมื่อยังมีความบากบั่นอยู่
ควรละเว้นบาปทุกอย่าง
เหมือนคนตาดีละเว้นทางขรุขระ ฉะนั้น
สุปปพุทธกุฏฐิสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. ๒๕/๔๓/๑๖๐)
B สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง
โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ ๔ ประการ
(ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๓)
C ความสงสัย หมายถึงวิจิกิจฉา ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ
ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑, และวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ
ดูรายละเอียดใน ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๘/๑๙, สํ.นิ.๑๖/๒๐/๒๗
D ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่นหรือไม่ต้องอาศัย
ผู้อื่นสนับสนุนให้เชื่อเพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๖,องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๖/๑๑๘)
E สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (ที.สี.อ.๑/๓๗๓/๒๘๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒,
ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๑๐, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
F ในที่นี้ วรรณะ หมายถึงรูปสมบัติ ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.อุ.อ.๔๓/๓๑๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!