25-269 ภิกษุหลายรูป
พระไตรปิฎก
๗. สัมพหุลภิกขุวัตุถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๘] ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ก็จะพึงบรรลุสันตบท A อันเป็นที่ระงับสังขารเป็นสุข
[๓๖๙] ภิกษุ เธอจงวิดเรือ B นี้
เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว
เธอตัดราคะ โทสะได้แล้ว
ต่อจากนั้น ก็จักบรรลุนิพพาน
[๓๗๐] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ C ได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้ D
[๓๗๑] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท
จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ
อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก)
อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง
[๓๗๒] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๓๗๓] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง E
มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป
[๓๗๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด
และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย
ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์
ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๗๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ
ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ
และความสำรวมในปาติโมกข์
เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้
[๓๗๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เชิงอรรถ
A สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)
B เรือ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)
C กิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ
(สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔, ขุ.ธ.อ.๘/๖๗)
D ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๕/๖,
ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘, ๖๓๓/๔๔๙
E เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง
(ขุ.ธ.อ. ๘/๖๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต