25-009 การแผ่เมตตา
พระไตรปิฎก
๙. เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
{๑๐} (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[๑] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท A
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ B ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๒] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย C
มีความประพฤติเบา D มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง E ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
[๓] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๔] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง F
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๕] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี G ก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๖] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและความแค้น
[๗] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๘] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน H ชั้นล่าง I และชั้นกลาง J
[๙] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ K นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๐] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ L
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ M
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ
เชิงอรรถ
A สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
B กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ
อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
C มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน
ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง
งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น หลัก (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
D มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร ๘ เช่น บาตร จีวร เป็นต้น
ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็นภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
E ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๗)
F หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล
เพราะละตัณหาและ ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๐)
G ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยัง
ต้องแสวงหาที่เกิด ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด ๔ สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่
หรือคลอดจากครรภ์ ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือ
คลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่ชื้นแฉะ)
และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี
ตั้งแต่ขณะจิตที่ ๒ เป็นต้นไป เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๑)
H ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
I ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
J ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
K สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๔)
L ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้”
(ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕) และดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๑/๒๒๘
M ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุ
สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส
แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.๙/๒๒๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต