25-008 การฝังขุมทรัพย์
พระไตรปิฎก
๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
{๙} (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์ A ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย B
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ
[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[๖] ขุมทรัพย์ C ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ D
[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ E
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา F
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๕] ปฏิสัมภิทา G วิโมกข์ H สาวกบารมี I
ปัจเจกโพธิ J และพุทธภูมิ K
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๖] บุญสัมปทา L นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ
เชิงอรรถ
A ขุมทรัพย์ มี ๔ ชนิด คือ
(๑) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง
(๒) ชังคมะ คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง
ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น
(๓) อังคสมะ คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น
(๔) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น
ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๓)
B ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง
หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.๘/๑๙๔)
C ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ
(ดูเชิงอรรถหน้า ๑๗ ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๖)
D สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิ
และอินทรียสังวร ทมะ หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส
คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๗)
E ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔
เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๓)
F มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี
เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๕)
G ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี ๔ ประการ คือ
(๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
(๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
(๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
H วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
I สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
J ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง
(ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
K พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง
(ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
L บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต