25-006 รัตนะอันประณีต



พระไตรปิฎก


๖. รตนสูตร A
ว่าด้วยรตนะอันประณีต

(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
{๗} [๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น B
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ C ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต D ใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๔] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๕] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิ E ใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น F ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๖] บุคคล ๑๐๘ จำพวก G ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๗] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า H
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๘] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๙] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ I
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๐] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคได้แล้ว
แม้จะมีกิเลสบางอย่างเหลืออยู่ J
[๑๑] พระโสดาบันนั้นพ้นแล้วจากอบายทั้งสี่ K
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖ L
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๒] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม M
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้
เรากล่าวว่าผู้เห็นบท N แล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๓] พุ่มไม้งามในป่า ซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๕] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืช O สิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา ดังนี้ )
[๑๖] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคต P พุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๗] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๘] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่ Q
รตนสูตร จบ
เชิงอรรถ
A ดู สุตตนิบาตข้อ ๒๒๔-๒๔๑ หน้า ๕๒๙ ในเล่มนี้
B คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ มีความหมายเชิงกริยาว่า “มีแล้ว” (หรือ “เกิดแล้ว” ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๑๕๓/๓๒๗) นัยที่ ๒ หมายถึงขันธ์ ๕ (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๔๐๑/๔๓๒) นัยที่ ๓ หมายถึงธาตุ ๔
มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. ๑๔/๘๖/๖๘) นัยที่ ๔ หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๙๐/๑๑๖)
นัยที่ ๕ หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๒๐/๑๖๗) นัยที่ ๖ หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๙๐/๑๑๖) นัยที่ ๗ หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๓/๕)
ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง
ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
C ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก
ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
D ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๙)
E สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล
โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)
F สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙)
G บุคคล ๑๐๘ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ (๑) เอกพีชี (๒) โกลังโกละ (๓) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ (๑) ผู้บรรลุผลในกามภพ (๒) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (๓) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน ๓ จำพวก และพระสกทาคามี ๓ จำพวก นับโดยปฏิปทา ๔ ประการ จึงได้บุคคล ๒๔
จำพวก (๖ x ๔ = ๒๔) รวมกับพระอนาคามี ๔ ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
อีกชั้นละ ๕ จำพวก (๔ x ๕ = ๒๐) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก ๔ จำพวก (๒๐ + ๔ = ๒๔) เป็น
บุคคล ๔๘ จำพวก (๒๔ + ๒๔ = ๔๘) รวมกับพระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ (๑) สุขวิปัสสก (๒) สมถยานิก
เป็นบุคคล ๕๐ จำพวก (๔๘ + ๒ = ๕๐) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก ๔ จำพวก เป็น
บุคคล ๕๔ จำพวก (๕๐ + ๔ = ๕๔)
บุคคลเหล่านี้มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ ๕๔ จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ ๕๔ จำพวก จึงเป็น
พระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก (๕๔ + ๕๔ = ๑๐๘) (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙-๑๖๐) นี้คือนัยโดยพิสดาร
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก คือ (๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล (๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (๕) พระอนาคามี
(๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๐)
H แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๑) กากณึก เป็นมาตราเงิน
อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)
I ไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ หมายถึงไม่เกิดในภพที่ ๘ เพราะท่านเหล่านั้นละสังโยชน์ ๓ ประการ (สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว และจะเวียนเกิดเวียนตายในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างมากไม่เกิน
๗ ครั้ง แล้วบรรลุอรหัตตผล เพราะนามรูปดับไปในภพที่ ๗ นั่นเอง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๓-๑๖๔)
J อภิ.ก. ๓๗/๒๗๘/๑๐๓
K อบายทั้งสี่ หมายถึงภูมิที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๕)
L อภิฐาน ๖ หมายถึงฐานะอันหนัก ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ฆ่ามารดา (๒) ฆ่าบิดา (๓) ฆ่าพระอรหันต์
(๔) ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ (๕) ทำให้สงฆ์แตกกัน (๖) เข้ารีตศาสดาอื่น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๖)
M บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเบา เช่น ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับสามเณรเป็นต้น มิได้
หมายถึงอาบัติหนัก (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗) และดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐/๒๓๘ ประกอบ
N บท ในที่นี้หมายถึงทางแห่งนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗)
O พืช ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๑) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๗/๓๐๐ ประกอบ
P ตถาคต แปลว่า ไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น มีความหมายหลายนัย เช่น ไปหรือมาอย่างบุคคลผู้
ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ไปหรือมาด้วยการเพิกถอนกิเสสได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนา
ไปหรือมาด้วยการกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ ไปหรือมาด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ในที่นี้ใช้เป็น
คำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๒)
Q สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขอันโอฬารคือพระนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗) ดู ขุ.ธ. แปลในเล่มนี้
ข้อ ๒๙๐ หน้า ๑๒๓

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!